จากกรณีที่ได้มีประชาชน และนักกีฬาขี่จักรยาน ได้ร้องเรียนกับนักข่าวเฉพาะกิจส่วนกลาง ว่าเส้นทางจักรยาน หรือ Bike lane โดยรอบสวนป่าสิริเจริญวรรษความยาว 20 กิโลเมตร ที่ทางจังหวัดชลบุรี ในยุคของ นายคมสัน เอกชัย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้ขอสนับสนุนงบประมาณจากกรมพลศึกษา จำนวน 50 ล้านบาท ตั้งแต่ พ.ศ.2558 เพื่อสร้างเส้นทางจักรยานให้กับประชาชนได้ใช้ประโยชน์ สนับสนุนการท่องเที่ยวและการกีฬา ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาเส้นทางจักรยานจังหวัดชลบุรี โดยใช้พื้นที่โดยรองของสวนป่าสิริเจริญวรรษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 จังหวัดชลบุรี เป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ และได้มอบหมายให้ นางอำไพ ศักดานุกูลจิต สไลวินสกี้ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี ดำเนินการเรื่องการว่าจ้าง บริษัท บางแสนมหานคร จำกัด ที่ประมูลได้งาน ดำเนินการสร้างเส้นทางยาว 20 กิโลเมตร โดยการเบิกจ่ายเงินผ่านคลังจังหวัดโดยตรง
ซึ่งต่อมาได้มีนักกีฬาปั่นจักรยานทั้งในและนอกพื้นที่จำนวนมาก ได้เข้าร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่าน่าจะเกิดความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณในโครงการนี้ อีกทั้งเส้นทางได้เสร็จสิ้นตามสัญญาจ้าง บริษัทฯได้ส่งงานให้กับทางราชการแล้ว แต่เพราะเหตุผลใดจึงไม่เปิดให้ใช้เส้นทางจักรยาน เพียงให้เหตุผลเดียวกับประชาชนก็คือเส้นทางชำรุดเสียหายหลายจุด เกรงจะเกิดอันตรายกับนักขี่จักรยานจึงไม่เปิดให้ใช้จนกว่าจะได้รับอนุมัติเงินแผนพัฒนาจังหวัดอีก 16 ล้านบาท มาจ้างงานซ่อมทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว แต่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะดำเนินการได้เรียบร้อยเมื่อใด อยู่ในดุลยพินิจของ นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และคณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัด ว่าจะตัดสินใจให้ดำเนินการอย่างไร
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางรายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้สั่งการให้ นายสุนทร มูเนาวาเราะ นายอำเภอสัตหีบ ดำเนินการเชิญหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล และความเป็นมาเกี่ยวกับโครงการเส้นทางจักรยานนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเส้นทางจักรยานตัดผ่านเข้าไปในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก จำนวน 30 ไร่ และยังมีประชาชนอีกหลายรายที่ได้รับความเดือดร้อนในวาระเดียวกัน โดยให้ นายประพันธ์ศักดิ์ ขวัญศรี นายช่างรังวัดชำนาญการ สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาสัตหีบ รีบเร่งตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เบื้องต้นพบเอกสิทธิ์ น.ส.3 ก. จำนวน 2 แปลง แปลกแรก จำนวน 43 ไร่ 33 ตารางวา และแปลงที่สอง จำนวน 33 ไร่ 1 งาน 26 ตารางวา รวมทั้งหมด 76 ไร่ ซึ่งเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวได้ออกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ก่อนที่จะมีการทำเส้นทางจักรยานของจังหวัดชลบุรี