จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ภาคการเกษตรถือเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทย โดยเป็นแหล่งรองรับแรงงานขนาดใหญ่ มากกว่า 40 % แต่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเพียง 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เกษตรกรจึงประสบปัญหาหลักมาจากต้นทุนการเพาะปลูกต่อไร่สูง ขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงขาดทักษะและโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงที่ผ่านมาการส่งเสริมจากภาครัฐเป็นลักษณะการคิดแทน ทำแทน เมื่อโดรนเพื่อการเกษตรเข้ามาช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตร จากข้อมูลโดรนมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนแรงงานลงกว่า 50% และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น 10% โดยปัจจุบันมีโดรนเพื่อการเกษตร ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง จำนวน 9,063 ลำ และเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 11% ปี คาดการณ์ว่าอีก 5 ปี จะมีโดรนเพื่อการเกษตร ไม่น้อยกว่า 80,000 ลำ คิดมูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท
ด้วยการขับเคลื่อนแนวนโยบาย “The Growth Engine of Thailand” ของกระทรวงดีอี มุ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ซึ่งต้องให้ความสำคัญการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) ได้ถูกทำให้เป็นรูปธรรมผ่านโครงการ “1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ)” ด้วยการส่งเสริมให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากฝีมือคนไทยให้มีโอกาสแสดงความสามารถในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าสำนักงาน ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน โดยบริษัท พาวเวอร์ อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการพัฒนาศูนย์พัฒนาทักษะการบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร สำหรับเป็นสถานที่ในการพัฒนาศักยภาพการบังคับโดรนเพื่อการเกษตร ระยะแรก มีการดำเนินงาน 5 จังหวัด คือ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี ชลบุรี และสงขลา พร้อมเปิดบริการเต็มรูปแบบ ครบทุกสาขาภายในปี 2567 รวมถึง เปิดศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร บริการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรให้ชุมชน เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับชุมชนให้แข็งแรง อีกทั้งยังช่วยพัฒนาช่างในวิชาชีพแขนงต่างๆ เช่น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้าวิทยุ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยมีจำนวน 50 ศูนย์ซ่อม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ดำเนินการรูปแบบ Change Agent 1 ศูนย์ซ่อม ดูแลรับผิดชอบ 10 ชุมชน โดยมีเป้าหมาย 50 ศูนย์ซ่อม 500 ชุมชน