กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ 23 องค์กร ออกแถลงการณ์ด่วน ถึง นายกรัฐมนตรี ผู้เกี่ยวข้อง ย้ำขอความชัดเจนให้ ปชช. ปมพื้นที่ออกเอกสารสิทธิ์ สปก.ทั่วประเทศ พร้อมเรียกร้องภาคีเครือข่ายฯ ทั่วประเทศ รวมพลังจับตาข้อพิรุธ

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น. นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ 1 ในเครือข่ายอนุรักษ์ 23 องค์กร รอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เปิดเผยว่า ภายหลังได้เข้าพบ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวานนี้ ที่กระทรวงฯ

โดยได้ยืนหนังสือประเด็นความห่วงใยกรณีข้อพิพาท “จุดหมุดนิรนาม ส.ป.ก.” ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และปัญหาการบุกรุกพื้นที่บริเวณโดยรอบเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เกรงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบให้กับการเป็นมรดกโลก ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมถึงกระทบการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่นับวันจะมีปัญหาในหลายเรื่อง โดยเครือข่ายฯ ได้ยืนเอกสารแถลงการณ์ 5 ข้อ “เซฟเขาใหญ่ให้ปลอดภัยจาก ส.ป.ก.” ผนวกเข้าไปด้วยแล้วนั้น

ล่าสุด ร.ต.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวภายหลังกรมแผนที่ทหารได้สำรวจพื้นที่ สปก.นครราชสีมา ที่ไปทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ จนเกิดข้อพิพาท 2 หน่วยงาน ชี้ชัดพื้นที่ปักหมุดไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พร้อมสั่งตรวจสอบพื้นที่เขาใหญ่ มีการจัดสรรให้เกษตรกรเข้าทำกิน หากพบสร้างเป็นรีสอร์ทให้ยึดคืนทั้งหมด และจะทำเป็นป่าแนวกันชน

 

 

 

 

ดังนั้นในนาม 23 องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ รอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงออกแถลงการณ์ ดังต่อไปนี้

1.ภายหลังกรณีเกิดข้อพิพากษาจุดหมุดนิรนาม ส.ป.ก.” ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แล้วนั้น ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว อีกหรือไม่ โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานฯ ทั่วประเทศ จึงขอความชัดเจนในเรื่องนี้ และกรุณาเปิดเผยข้อมูลในเรื่องนี้ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อความโปร่งใส

2.การออกเอกสาร ส.ป.ก.ทั่วประเทศเพื่อให้ที่ทำกินกับเกษตรกร ที่อยู่แนวกันชนป่า ระหว่าง 3 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และ สปก. ควรเปิดเผยให้สังคมรับทราบ เพื่อไม่ให้ผู้ไม่หวังดีบุกรุกทำลายป่า อย่างเช่น กรณีผืนป่าสงวนแห่งชาติดงพญาเย็น บ้านหนองเครือคต ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่วันนี้ยังไม่ชัดเจนว่าดำเนินการอะไรแล้วหรือไม่

3. การออกเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ทำกินของเกษตรกรทั่วประเทศ จะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะชนให้ทราบถึงรายชื่อของผู้ถือครอง ว่าเป็นผู้มีสิทธิ์จริงหรือไม่ รวมถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่ชัดเจน ก่อนมอบเอกสารสิทธิ์ให้ และถ้าเกิดผิดปกติ หรือมีข้อพิรุธ ก็จะสามารถโต้แย้งได้ทันเวลา ไม่ใช่ทำแบบเงียบๆเช่นที่ผ่านมา

 

 

 

 

4. ต้องมีการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติ เกี่ยวกับการให้สิทธิ์ถือครองที่ดิน หรือรางวัดพื้นที่ โดยจะต้องมีหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคประชาชน ประชาสังคม จะต้องได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนมากกว่านี้

5.ด้าน 23 องค์กรเครือข่ายการอนุรักษ์ขอเชิญชวนผู้ที่มีหัวใจรักษ์ป่า รักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์ธรรมชาติ และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ออกมารวมกันแสดงพลังปกป้องป่า ช่วยกันตรวจสอบพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน อย่าปล่อยให้เรื่องนี้เป็นแค่ไฟไหม้ฟาง เพราะเราอาจจะเสียผืนป่าไปอีกจำนวนมากในไม่ช้า.

 

 

 

 

ภาพ/ข่าว ประสิทธิ์ วนะชกิจ ผู้สื่อข่าว จ.นครราชสีมา