จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์”

วันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ ศูนย์เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” พร้อมด้วย นางพัทธานันท์ ยังตรง นายกเหล่ากาชาดจังหวัด ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด นางสาวฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัด นางรัดใจ สิริรัตตนนท์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัด รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีฯ เพื่อนำไปสร้างสรรค์ชิ้นงาน พัฒนาต่อยอดการผลิตผ้าและงานหัตถกรรม ตามอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา

“ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” เป็นลายที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถ นำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่น ตามความคิดสร้างสรรค์

ในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ประธานในพิธี ได้เปิดกระทงดอกไม้ ธูป เทียนแพ ถวายความเคารพเบื้องหน้าพระรูป และกล่าวสำนึกในพระกรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้า ลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และทำพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” “ และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี และได้นำผู้เข้าร่วมพิธีฯ เยี่ยมชมนิทรรศการ “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก“ ในบริเวณพื้นที่จัดงานดังกล่าวด้วย ซึ่งจังหวัด
ฉะเชิงเทรา จะได้ดำเนินการและขยายผลโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ไปยังทุกอำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง ยังผลให้ช่างทอผ้าช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ด้วยสำนึกพระกรุณาคุณที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย ขอน้อมนำแนวพระดำริในการสร้างคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจกิจฐานราก อันยังประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”

อาษา/ปรีญาภรณ์/ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา