คณะ กต.ตร.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา ร่วมเปิดกิจกรรมชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติด

วันที่ 11 มิ.ย.67 ที่บ้านเดโช หมู่ 7 ต.คลองอุดมชลจร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา คณะกต.ตร. สภ.เมืองฉะเชิงเทรา นำโดย นายประชา คล้ายสิงห์ ที่ปรึกษาตำรวจภูธรภาค 2 / ประธาน กต.ตร.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา นายมานัส โท้เป๋า ประธานที่ปรึกษา กต.ตร. นายธนิต เสริมชีพ รองประธาน กต.ตร. เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พร้อมทั้งได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ปัญหายาเสพติด (MOU) จากหน่วยงานต่างๆ และให้ความรู้ปัญหายาเสพติดกับประชาชน โดยมี นายนายสุรชัย โคตรบุตรดี นอภ.เมืองฉะเชิงเทรา เป็นประธาน มี พระครูปลัดสุรศักดิ์ อัคคะวังโส เจ้าอาวาสวัดไชยธาราประชาบำรุง (วัดที่หนึ่ง) พ.ต.อ.สมชาย อยู่สวัสดิ์ รอง ผบก.ภ. จว.ฉะเชิงเทรา พ.ต.อ.ณัฐพล อะกะเรือน ผกก.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา พ.ต.ท.อธิษฐ์ พิสิษฐ์กูล รอง ผกก.ป. พ.ต.ท.เสรี อินคง สวป. นายสมเจตต์ สถิตสมิทธิ์ สาธารณสุขอำเภอฯ นายไพโรจน์ มะกล่ำดำ ผอ.รพ. สต. นายนุกูล เทศกุล ผอ.รร.วัดชัยธาราฯ นายมนตรี เกตุศิริ กำนันตำบลคลองอุดมชลจร นายมนูศักดิ์ หม่องศิริ นายก อบต.คลองอุดมชลจร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืน และแกนนำประชาชนของแต่ละหมู่บ้าน ร่วมกิจกรรม

พ.ต.อ.ณัฐพล อะกะเรือน ผกก.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระสำคัญของชาติ ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อน ความทุกข์ยากของประชาชน และศักยภาพการพัฒนาของประเทศในอนาคต เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่บ้าน ที่มีผู้ติดยาเสพติดอาศัยอยู่ จะมีปัญหามากกว่าทุกระดับ ที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ต้องช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดให้ได้รับการบำบัดรักษาและอยู่ในหมู่บ้านอย่างสงบสุข ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย สภ.เมืองฉะเชิงเทรา ได้ร่วมกับทางเครือข่ายฝ่ายปกครอง สาธารณสุข และหลายหน่วยงานในพื้นที่ จัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติด เพื่อค้นหาผู้เสพตั้งแต่อายุ 12-65 ปี

ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของยาเสพติด ที่แพร่ระบาดตามหมู่บ้านเป้าหมายที่เรากำหนดได้เป็นอย่างดี ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมการออกสำรวจ ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ และช่วยกันค้นหาผู้เสพดังกล่าวเพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ส่วนที่มีความรุนแรงก็จะใช้วิธีส่งไปทาง รพ. ส่วนที่อยู่ระดับที่เราบำบัดได้ ก็จะดำเนินการในโครงการของเรา คาดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ได้ดีระดับหนึ่ง เป็นการป้องกันผู้เสพไม่ให้เข้าสู่การเสพแบบเพิ่มขนาดขึ้น และจะแก้ปัญหาการอาละวาดคลุ้มคลั่งในการเสพยา เพราะถ้าผู้เสพไม่มีการบำบัดรักษา หรือไม่มีการป้องกันตั้งแต่ต้นแล้ว จะทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิด รวมถึงชุมชนหมู่บ้าน จะเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ ในเรื่องการค้นหาผู้เสพนำมาบำบัดรักษา ตลอดถึงการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ยังไม่เสพไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดต่อไป

อาษา/ปรีญาภรณ์/ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา