ผู้ว่าฯฉะเชิงเทรา เปิดโครงการการจัดการความรู้ “เวทีวิชาการเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาช้างป่า ภาคตะวันออก”

วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2567 ที่ ห้องโชคอนันต์ ชั้น 2 อาคารเรียนรวมและอำนวยการ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดโครงการการจัดการความรู้ “เวทีวิชาการเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก” โดยมี รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมโครงการ

 

 

โครงการการจัดการความรู้ “เวทีวิชาการเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาช้างป่า ภาคตะวันออก”
ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เป็นแหล่งให้ความรู้ และเป็นที่พึ่งพิงทางวิชาการที่พร้อมจะขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับเศรษฐกิจ
ฐานราก บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ อีกทั้งมีพันธกิจในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ท้องถิ่น ตอบสนองความต้องการของชุมชนให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อเนื่องและยั่งยืน ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (ระยะ 20 ปี) ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งแผนการดำเนินงานของจังหวัดฉะเชิงเทรา เป้าหมายย่อยการพัฒนาที่ 2 ด้านการยกระดับภาคการเกษตรของจังหวัดฉะเชิงเทราให้เข้มแข็งและสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน พบว่าผลกระทบที่มีต่อภาคการเกษตร

โดยมีชุมชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าตะเกียบ สนามชัยเขต และอำเภอแปลงยาว รวมถึงประชาชนในเขตภาคตะวันออก ซึ่งช้างป่ามีการกระจายพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งประชาชนในชุมชนได้รับผลกระทบด้านชีวิตและทรัพย์สิน จากสถานการณ์และประเด็นด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ปัจจัยผลกระทบ และการจัดการความขัดแย้งระหว่างประชาชนในชุมชนจากการรุกล้ำที่ทำกินของช้างป่า ให้สร้างพลัง และความร่วมมือในการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายการแก้ไขปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก จึงได้จัดโครงการการจัดการความรู้ “เวทีวิชาการเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาช้างป้าภาคตะวันออก” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานการณ์ช้างป่าและผลกระทบที่เป็นปัญหาร่วมในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก

อาษา/ปรีญาภรณ์/ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา