เกษตรอำเภอเบตงติดตามแปลงต้นแบบการใช้แสงไฟป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน

วันที่ 22 เม.ย. 2567 นางสาวอาภรณ์ รัตนพิบูลย์ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอเบตง พร้อมด้วยนางสาวพรพรรณ มณีโชติ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ลงพื้นที่ติดตามแปลงต้นแบบการใช้แสงไฟไล่ผีเสื้อกลางคืน เพื่อป้องกันและลดการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์การติดดอกของไม้ผล พบดอกทุเรียนส่วนใหญ่อยู่ในระยะหางแย้ ณ แปลงของนายวาจิ วาแม หมู่ที่ 9 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

น.ส.อาภรณ์ รัตนพิบูลย์ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอเบตง กล่าวว่า ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดยะลา โดยในปี 2566 มีพื้นที่ปลูก 96,234 ไร่ ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวน 89,661 ตัน มูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก ร้อยละ 54 จำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 46 และในปี 2567 พบว่ามีพื้นที่ปลูก 105,400 ไร่ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปีนี้ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาทุเรียนยะลาถูกตรวจพบว่ามีการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ทำให้ผู้ส่งออกถูกตีกลับสินค้า ส่งผลให้ทุเรียนในจังหวัดยะลาราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสที่จะสร้างรายได้จากการจำหน่ายทุเรียน

เกษตรอำเภอเบตงจึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับทุเรียนจังหวัดยะลาให้เป็นที่ยอมรับ จัดทำแปลงต้นแบบการใช้แสงไฟไล่และล่อแมลงในสวนทุเรียน โดยแสงไฟที่ใช้จะใช้หลอด LED แสงสีขาว หรือแสงสีเหลืองส้ม ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่แตกต่างกัน ซึ่งช่วงระยะเวลาที่เปิดไฟ ตั้งแต่ช่วงดอกระยะมะเขือพวงไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต และเวลาที่เปิดไฟคือ ช่วงเวลาที่แสงสว่างของกลางวันหมดไปจนถึงเริ่มมีแสงสว่างของวันใหม่ (ประมาณช่วงเวลา 18.000-06.00 น.) โดยเปิดไฟให้ทั่วถึงทั้งทรงพุ่มหรือสิ่งอื่นๆที่บดบัง ไม่ให้มีจุดอับของแสง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดการใช้สารเคมีทำให้ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค


เจษฎา สิริโยทัย /จ.ยะลา