วันที่ 9 สิงหาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางถึงสถานีการบิน กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ เพื่อไปติดตามความก้าวหน้าโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ณ สำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ร่วมตรวจติดตามความก้าวหน้าครั้งนี้ โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การต้อนรับ นำเสนอภาพรวมโครงการฯ และนำเยี่ยมชมตามลำดับ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center: IOC) พร้อมรับฟังรายงานความก้าวหน้า EEC และความก้าวหน้าโครงการ EECi จากนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ EEC ซึ่งภาพรวมการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามลำดับตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสหกรรม ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่ง EECi เป็นหนึ่งในอุตสหกรรมเป้าหมายดังกล่าวด้วย โดยความสำเร็จของ EEC 5 ปีแรก (2561-2565) อนุมัติเงินลงทุนเกินเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายมูลค่าการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าออกบัตรส่งเสริมปี 2561 ถึง Q2/2566 จำนวน 1,360,349 ล้านบาท โดยเป็น 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มูลค่าออกบัตรส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์ และเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(Solar Rooftop Energy) พลังงานสะอาด ระบบผลิตไฟฟ้าความร้อนร่วม ศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์ธุรกิจระหว่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ ภาคโลจิสติกส์ เหล็ก วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ปี 2561 – Q2/2566 มูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 ลำดับแรก คือ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกงตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าในโครงการที่สำคัญของ EEC เช่น โครงการโครงสร้างพื้นฐานใน EEC ทั้งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F เป็นต้น รวมทั้งจัดทำ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา อีอีซี (พ.ศ. 2566-2570)
รวมทั้งนายกรัฐมนตรีรับทราบภาพรวมการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ก่อนเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการอัจฉริยะ IOC จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการ EECi รับฟังรายงานภาพรวมการพัฒนาโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (EECi Aripolis – Sustainable Manufacturing Center : SMC) และเมืองนวัตกรรมชีวภาพ การเกษตรสมัยใหม่ (EECi Biopolis – Innovative Agriculture Smart Greenhouse) โดยภายหลังการเยี่ยมชม นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณและชื่นชมเลขาธิการ EEC บริษัท ปทต. และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันขับเคลื่อน EEC และโครงการ EECi ซึ่งมีความก้าวหน้าโดยลำดับตามแผนที่กำหนด พร้อมย้ำถึงการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนและสังคมได้รับทราบถึงความจำเป็นในการขับเคลื่อน EEC ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ได้มีการขยายไปสู่การขับเคลื่อน EEC ในประเภทต่าง ๆ ทั้ง EECi EECh EECd EECmd EECa เพื่อมุ่งให้ประชาชนหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้ประเทศมีรายได้ในการพัฒนาประเทศมากขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ EEC ต้องทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มีความสุข และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมทั้งด้านกายภาพและจิตใจ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมไปถึงการร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำที่รัฐบาลให้ความสำคัญ การประกอบการต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลกในปัจจุบันและอนาคต รวมไปถึงการเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในประเทศรองรับการพัฒนาในพื้นที่ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลรองรับการพัฒนาในพื้นที่และการพัฒนาของประเทศให้เพียงพอ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน โดยขอให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันทำเพื่อประเทศชาติ ในการเตรียมความพร้อมทุกด้านให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการพัฒนาของโลกด้วย