ทึ่ง! ผลศึกษา “ใบมะละกอ” สู้ “ไวรัสไข้เลือดออก” ได้ผลดี

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เผยผลศึกษา “ใบมะละกอ” สู้ไวรัสไข้เลือดออก ได้ผลดี ชี้เป็นความหวังของสมุนไพร

ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผยว่า ช่วงเข้าสู่หน้าฝนพบโรคไข้เลือดออกเกิดการแพร่ระบาดเกือบทั่วประเทศ โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า พบผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 5,000 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วถึง 3 เท่า พร้อมยืนยันว่า ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออก มีโอกาสที่จะเป็นได้อีก และจะมีอาการรุนแรงขึ้นเนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกมีถึง 4 สายพันธุ์ ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันแค่สายพันธุ์เดียว การป้องกันการระบาดที่ดีที่สุด คือ ไม่ให้ถูกยุงลายมากัดโดยใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกัน เช่น ฟ้าทะลายยุง หรือตะไคร้หอม ร่วมกับการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายก็สามารถช่วยได้

 

ภญ.ดร.ผกากรอง กล่าวว่า สำหรับอาการของโรคไข้เลือดออก นั้น มีตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงมาก หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้ป่วย 100 รายไม่มีอาการ 80 ราย มีอาการน้อย 10 และอีก 10 รายอาการมากจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ดังนั้นผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตอาการ โดยเมื่อได้รับเชื้อที่มากับยุงอาจมีไข้สูง หากใช้ยาลดไข้แล้วไม่ลง รวมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และมีเลือดออกตามร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์เพราะปัญหาสำคัญของผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ การที่ไวรัสเดงกี ทำให้เกล็ดเลือดต่ำลง

อย่างไรก็ตามขณะนี้การรักษายังไม่มียาเฉพาะสำหรับรักษาไวรัสเดงกี แต่ใช้การรักษาตามอาการ โดยให้ยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ กลุ่มแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน ซึ่งในกลุ่มของสมุนไพร จะนิยมใช้ฟ้าทะลายโจร รักษาอาการไข้หวัด ซึ่งผลศึกษาวิจัยพบว่า ฟ้าทะลายโจร มีผลต่อไวรัสเดงกี สายพันธุ์ที่ 2 ดังนั้นหากมีอาการไข้ในระยะเริ่มแรกก็ยังใช้ฟ้าทะลายโจรได้ แต่กรณีที่มีจ้ำเลือดออก หรือมีเลือดออกตามไรฟันจะต้องหยุดใช้ เพราะอาจมีผลทำให้เลือดหยุดยาก ส่วนยาสมุนไพรที่ใช้ลดไข้ได้โดยไม่มีผลต่อเกล็ดเลือด คือ จันทน์ลีลา อาจกินเสริมกับพาราเซตมอล เพื่อลดขนาดของพาราเซตมอลที่อาจมีผลข้างเคียงต่อตับ

 

ดร.ผกากรอง กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการศึกษาของโรงพยาบาลเพ็ญ จ.อุดรธานี ซึ่งนำสมุนไพรใกล้ตัวของคนไทย ไปศึกษาในต่างประเทศ โดยพบ 3 กลไกสำคัญ ได้แก่ 1.ต้านการแบ่งตัวของไวรัสเดงกี สายพันธุ์ที่ 2 เช่นเดียวกับฟ้าทะลายโจร 2.เพิ่มเกล็ดเลือด ทั้งเพิ่มจำนวน และลดการรวมตัวของเกล็ดเลือด 3. เสริมกลการทำงานของภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น และบางกรณีศึกษา พบว่าช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดง ลดการหลั่งสารต้านการอักเสบ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ โดยในวารสาร BMJ หรือ British Medical Journal มีการกล่าวถึงการใช้ใบมะละกอต้านไวรัสเดงกี ด้วยเช่นกัน

 

ทั้งนี้โรงพยาบาลเพ็ญ จ.อุดรธานี ได้ทำการศึกษาผู้ป่วย 78 รายโดยให้กินน้ำคั้นใบมะละกอก่อนอาหาร ในปริมาณ 30 ซีซี 3 ครั้งต่อวัน หรือ 90 ซีซีต่อวัน เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยไข้เลือดออกที่เข้ารับการรักษาแบบควบคุมอาการ โดยทำการศึกษาตั้งแต่วันแรกไปจนถึงวันสุดท้ายของการรักษา ผลลัพธ์ที่ได้ คือ 1.ผู้ป่วยในกลุ่มทดลองที่กินน้ำคั้นจากใบมะละกอ จะรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลสั้นกว่ากลุ่มที่เข้ารับการรักษาด้วยการควบคุมอาการ 2.ผู้ป่วยที่กินน้ำคั้นจากใบมะละกอ เกล็ดเลือดจะเพิ่มขึ้นในวันที่ 3 เป็นต้นไป และจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจนเป็นปกติในวันที่ 5 เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยควบคุม จะมีเกร็ดเลือดเพิ่มขึ้นในวันที่ 8 เป็นต้นไป 3. กลุ่มผู้ป่วยทดลอง อุณหณภูมิร่างกายจะลดลงเร็วกว่า กลุ่มควบคุม เนื่องจากมีอาการฟื้นตัวจากโรคได้เร็วกว่า ทําให้มีความสุขสบายเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่วันแรก

ส่วนขั้นตอนการรักษา ดร.ผกากรอง กล่าวว่า ให้นําใบมะละกอที่ไม่อ่อนและไม่แก่จนเกินไป จํานวน 1-3 ใบ นํามาล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก จากนั้นนํามาขยี้หรือโขลกให้ละเอียดแล้วกรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อคั้นเอาน้ำสกัดใบมะละกอออกมาให้ได้ประมาณ 20 มิลลิลิตร จากนั้นเติมน้ำตาลมะพร้าว 2 ช้อนชาแล้วผสมให้เข้ากัน จากนั้นใส่ภาชนะเก็บไว้ในตู้เย็นไม่เกิน 24 ชั่วโมงแล้วนั้นนำมาให้ผู้ป่วยรับประทาน โดยกลุ่มผู้ใหญ่ให้ดื่มในปริมาณ 30 มิลลิลิตร ส่วนกลุ่มผู้ป่วยเด็กอายุมากกว่า 10 ปี ให้ดื่มในปริมาณ 10 มิลลิลิตร โดยดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5-7 วัน