นายกเมืองพัทยาแถลงความร่วมมือช่วยหลือเหตุเพลิงไหม้ตลาดน้ำ 4 ภาค พัทยา

วันที่ 8 ก.ย.66 ที่ห้องประชุม 131 ศาลาว่าการเมืองพัทยา นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ตลาดน้ำสี่ภาคพัทยา เมื่อช่วงค่ำวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมแนวทางการให้ความช่วยเหลือ

นายปรเมศวร์ นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า ทันทีที่ได้รับแจ้งจากทีมงานสายตรงนายกเมืองพัทยา ว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ตลาดน้ำ 4 ภาคพัทยา ในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. ทางผู้บริหารเมืองพัทยาก็ได้เร่งไปยังที่เกิดเหตุ พร้อมมอบหมายสั่งการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันภัยพิบัติทางบก นำรถดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์เข้าให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

พร้อมประสานความร่วมมือกับอำเภอบางละมุง ตั้งกองบัญชาการเพื่ออำนวยการในภารกิจดังกล่าว ซึ่งทางตลาดน้ำสี่ภาคได้ปิดบริการในช่วง 19.00 น. ถือว่ายังโชคดีที่ไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้ในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยเพลิงสงบลงในเวลา 21.30 น. และไม่ลุกลามไปสู่บ้านเรือนประชาชน

 

ทั้งนี้พบอุปสรรคในช่วงแรกคือรถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปด้านในได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการควบคุมเพลิงอยู่รอบนอก รวมทั้งมีการใช้เครื่องหาบหามเข้าไปโดยใช้น้ำจากบึงน้ำของตลาดน้ำในการฉีดสกัดเพลิง โดยมีหน่วยงานจากพื้นที่ข้างเคียงร่วมสนับสนุนภารกิจจนลุล่วง อาทิ ดับเพลิงจากเทศบาลต่างๆ อำเภอบางละมุง ตำรวจ กู้ภัยจากมูลนิธิต่างๆ รวมถึงจากจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติการสกัดเพลิงเพื่อไม่ให้เกิดปะทุขึ้นอีก โดยสามารถจบภารกิจเมื่อเวลา 01.20 น.

และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่กำลังพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์ที่จะประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าอาจจะไม่ถึงขั้นต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เนื่องจากพื้นที่เสียหายมีขนาดไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด และจากนี้เมืองพัทยาสามารถเข้าไปดูแลได้ทันทีโดยไม่ต้องส่งเรื่องไปถึงกรมโยธาธิการ โดยต้องดูว่าพื้นที่เสียหายจะต้องรื้อทั้งหมดหรือสามารถซ่อมแซมได้ แต่เท่าที่ดูด้วยสายตาน่าจะไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้ว ซึ่งต้องให้ทางสำนักช่างเข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง

ส่วนสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้จะเป็นหน้าที่ของ สภ.หนองปรือ ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบ ร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานของตำรวจภูธรภาค 2 โดยเบื้องต้นทางเจ้าของตลาดได้แจ้งว่าน่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และมูลค่าความเสียอยู่ที่ประมาณ 70-100 ล้านบาท ร้านค้าเสียหายประมาณ 40-50 ร้าน

สำหรับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวนั้น คาดว่าภาคเอกชนเองคงต้องดูแลและเร่งฟื้นฟูพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในกิจการของตน แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา เนื่องจากพัทยายังมีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อีกมากมายที่นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ต้องเสียแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไป 1 แห่ง

อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมด้วยช่วยกันในภารกิจครั้งนี้ รวมทั้งอาหาร เครื่องดื่ม จากประชาชนที่ร่วมสนับสนุนภารกิจเจ้าหน้าที่ และหลังจากนี้เมืองพัทยาจะต้องมาดูว่าหลักเกณฑ์การเยียวยาจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เนื่องจากเป็นที่ของเอกชน ซึ่งต้องมีการพิสูจน์หลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการเยียวยาในลำดับต่อไป

 

ภาพ/ข่าว เก่ง ณ สงขลา ผู้สื่อข่าว ประจำ จ.ชลบุรี