ศรชล. พบสื่อมวลชน ร่วม ปชส.ให้ ปชช.รับรู้ความสำคัญผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

วันที่ 13 ก.ย.66 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) โดย กองสารนิเทศ สำนักนโยบายและแผน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (กสน.สนผ.ศรชล.) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ทำข่าวและการประชาสัมพันธ์ ศรชล. โดยมีผู้แทนหน่วยจาก สนผ.ศรชล. จำนวน 1 นาย กสน.ศรชล.ภาค 1 จำนวน 1 นาย และสื่อมวลชนในพื้นที่ ศรชล.ภาค 1 จำนวน 2 นาย กสน.ศรชล.ภาค 2 จำนวน 1 นาย และสื่อมวลชนในพื้นที่ ศรชล.ภาค 2 จำนวน 2 นาย กสน.ศรชล.ภาค 3 และสื่อมวลชนในพื้นที่ จำนวน 12 นาย ระหว่างวันที่ 13 – 16 ก.ย.66 ณ ดิ เอลลิเมนท์ กระบี่ รีสอร์ท ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่

 

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกรอบการดำเนินการประชาสัมพันธ์ ร่วมกับสื่อมวลชนในพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร ให้ประชาชนตระหนักรู้ในความสำคัญของผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รวมทั้งส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ได้รับทราบถึงปัญหา อุปสรรค ข้อขัดข้อง และแนวความคิดการประชาสัมพันธ์ จากผู้แทนหน่วยต่าง ๆ ของ ศรชล. และสื่อมวลชนในพื้นที่ เพื่อบูรณาการการประชาสัมพันธ์ร่วมกัน ระหว่าง ศรชล. กับสื่อมวลชน ในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย
ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหน่วยงานภายในสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.ศรชล. ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรอง ผอ.ศรชล. รองผู้บัญชาการทหารเรือ อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้บังคับการตำรวจน้ำ ปฏิบัติหน้าที่เป็น ผช.ผอ.ศรชล. และเสนาธิการทหารเรือ เป็นเลขาธิการ ศรชล. มีหน้าที่รับผิดชอบงานอำนวยการและธุรการ ของ ศรชล. มี ผวจ. แถบชายฝั่งทะเล เป็น ผอ.ศรชล.จังหวัด มีขอบข่ายความรับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 22 จังหวัด และ 1 พื้นที่เขตบางขุนเทียน กทม. รวม 23 จังหวัด

 

ปัจจุบัน ศรชล. นับเป็นหน่วยงานหลักและเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลและรับผิดชอบการดำเนินการที่มีเอกภาพ สามารถบูรณาการการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ในเขตทางทะเลที่มีลักษณะที่หลากหลาย และประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยหรือสิทธิอธิปไตย รวมทั้งสิทธิหน้าที่อื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีจะต้องปฏิบัติตาม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่มีอยู่อย่างมากมายในด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากร ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
โดยมีภารกิจหลัก ในการป้องกันภัย 9 ด้าน ประกอบด้วย การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธ การทำการประมง การก่อการร้ายในทะเล การเข้าเมืองผิดกฎหมาย การเกิดอุบัติเหตุและการกู้ภัยทางทะเล การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภัยพิบัติทางธรรมชาติ การบังคับใช้แรงงาน แรงงานทาส และการค้ามนุษย์ในทะเล การลักลอบนำสิ่งผิดกฎหมายเข้าประเทศ และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน