ภาพความน่ารักระหว่างคนกับสัตว์ป่า กับ ช้างป่าฤาไนอย่างเจ้า น้องตุลา วัย 6 เดือนเศษ ที่ถูกแม่ช้างป่าทิ้ง จากอาการป่วยเป็นไวรัสเฮอร์ปีส์ ในพื้นที่ป่าเขาสอยดาว จันทบุรี รอยต่อป่า จ.สระแก้ว ก่อนเดินเข้ามาในค่ายทหารพรานในอาการอิดโรย นำมาสู่การให้การช่วยเหลือรักษาอาการป่วยเป็นไวรัสเฮอร์ปีส์ นาน 1 เดือน 23 วัน ที่ ศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่า สัตวแพทย์ประจำศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่)
ซึ่งทราบจากคุณหมอมัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของสัตว์ป่า อย่างช้าง ที่เมื่อแม่ช้างคลอดลูกช้างออกมา แล้วรู้ว่าลูกช้างป่วยเป็นไวรัสเฮอร์ปีส์ ก็จะทิ้งไว้กลางป่าทันที เพราะหากพาไปด้วยก็ไม่รอด ขณะที่ ตลอดระยะเวลาที่ ลูกช้างป่าคือเจ้าตุลา เข้ามาทำการรักษาที่ ศูนย์ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สัตวแพทย์ประจำศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เกือบ 2 เดือน ทีมคุณหมอ และเจ้าหน้าที่อนุรักษ์จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ก็ดูแลรักษาตามอาการ
โดยล่าสุดขณะนี้ก็ได้ ให้น้องตุลา กินนม จำนวน 18 ครั้ง เท่ากับ 15,500 มิลลิลิตร เฉลี่ยครั้งละ 861.1 มิลลิลิตร ส่วนการขับถ่าย ปัสสาวะ อุจจาระ และการนอน เป็นปกติตามธรรมชาติตามวัยของสัตว์ การนอนจะเฉลี่ยครั้งละประมาณ 40 นาที มีการให้เกลือแร่ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ซอง/น้ำ 250 มิลลิลิตร ให้วิตามินซี 5000 มิลลิกรัม ให้แคลเชียม 15 เม็ด 3 เวลาครั้งละ 5 เม็ดผสมกับนมอุ่นๆ กล้วยน้ำว้า 6 ลูก ผสมกับนมครั้งละ 1-2 ลูก 3 เวลา สรุปได้ว่าอาการป่วยของน้องตุลาดีขึ้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว
และดูได้จากอาการร่าเริง ที่ได้ลงเล่นน้ำ ที่จะเห็นได้ว่าน้องตุลาจะค่อนข้างขี้อ้อน ดื้อตามประสาเด็กน้อย มีแกล้งเหยียบให้น้ำออกจากอ่าง และแกล้งกลิ้ง ในช่วงสายๆ และช่วงบ่ายๆ เจ้าหน้าที่อนุรักษ์จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่มาร่วมช่วยคุณหมอดูแลน้องตุลา ก็มีการล้างตัว ถู เสมือนว่าเป็นน้องคนหนึ่ง ก็เป้นความน่ารักท่ามกลางอากาศที่ร้อนถึง 36 องศา