พิธีรำบวงสรวงถวายท้าวเวสสุวรรณ และปลุกเสกข้าวแจกชาวบ้าน ในประเพณีทำบุญกองข้าวใหญ่

วันที่ 10 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักสงฆ์สวนป่าวรมันต์มหาโพธิ์ศรีลังการ ตำบลหนองบัวบาน อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ดร.พระมหาภูลังกา เจ้าสำนักสงฆ์ นายชัยวัชระ ประยงค์หอม พ่อพราหมณ์ พร้อม ศิษยานุศิษย์ ชาวบ้าน ร่วมกันประกอบพิธี รำบวงสรวงสมโภชท้าวเวสสุวรรณ รูปปั้นขนาดใหญ่มีความกว้าง 1.2 เมตร สูง 4 เมตร และมีน้ำหนักถึง 3 ตันกว่า พร้อมจัดประเพณีทำบุญกองข้าวใหญ่ เพื่อทำบุญให้กับแม่โพสพที่เป็นเทพเจ้าแห่งข้าว โดยทางวัดได้นำข้าวเจ้าดำ ที่คิดค้นโดย นายวุฒิพงษ์ สีชมภู เกษตรกรในพื้นที่ตำบลหนองบัวบาน ที่สามารถนำข้าวเหนียวมาผสมพันธุ์กับข้าวเจ้าจนออกมาเป็นข้าวเจ้าดำ ที่มีความอร่อย และไม่แข็ง พร้อมกับมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย จำนวนกว่า 2 ตัน มาผ่านกระบวนการปลุกเสกเพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมกับแจกจ่ายให้ชาวบ้านใด้นำกลับไปรับประทาน โดยเชื่อว่า หากนำไปรับประทานจะบังเกิดสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต ซึ่งชาวบ้านต่างใจจดใจจ่อ รอเสร็จพิธี จึงได้กรูเข้ามาหยิบเอาข้าวเจ้าดำที่ผ่านการปลุกเสกนำกลับไปรับประทานกันอย่างคึกคัก

 

 

 

 

 

หลังเสร็จพิธี น้องไอคิว ได้อวดโฉม พิณหัสดีกัณฑ์ (พิน-หัส-สะ-ดี-กัน) ดีดให้ชาวบ้านฟังเป็นครั้งแรกที่เคยมีมา พร้อมมีนางรำร่วมโชว์ลีลาสะกดใจผู้ชมเป็นอย่างมาก ซึ่ง พิณหัสดีกัณฑ์ ทำมาจากชิ้นส่วนของช้าง ไม่ว่าจะเป็นงาช้าง เท้าช้าง กระดูกสันหลังช้าง รวมแล้วทุกส่วนของช้าง จึงได้ชื่อว่าเป็นพิณสยบช้าง

 

 

ดร.พระมหาภูลังกา เจ้าสำนักสงฆ์ สวนป่าวรมันต์มหาโพธิ์ศรีลังการ กล่าวว่า วันนี้เป็นประเพณีบุญกองข้าวใหญ่ เพื่อทำบุญให้กับแม่โพสพที่เป็นเทพเจ้าแห่งข้าว ตามความเชื่อของคนโบราณ โดยทุกปีทางวัดเองก็จะมีข้าวสาร (ข้าวเจ้าดำ) ที่ทางวัดปลูกเองจำนวน 14 ไร่ นำมาบรรจุถุงแจกให้ญาติโยมปีละ 1-2 ตัน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่า เป็นข้าวมงคล เป็นข้าวที่พระทำ โดยชาวบ้านมักจะเอาไปผสมกับข้าวปกติหุงครั้งละเล็กน้อย ซึ่งพันธุ์ข้าวดังกล่าว ถูกคิดค้นโดย คุณลุงวุฒิพงษ์ สีชมภู ที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียงกับวัด คิดค้นได้ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นการนำเอาข้าวเหนียวกับข้าวเจ้ามาผสมกัน จนกลายเป็นข้าวเจ้าสีดำอย่างที่เห็น และใช้ชื่อว่าข้าวเจ้าดำ และไม่แข็งเหมือนไรซ์เบอรี่ ถือว่ากำเหนิดก่อนไรซ์เบอรี่เลยก็ว่าได้ ซึ่งสรรพคุณคือ มีธาตุเหล็กเยอะ กินแล้วรู้สึกอิ่มนาน ซึ่งทางวัดได้อนุรักษ์ข้าวพันธุ์นี้ไว้มา 10 กว่าปีแล้ว บนเนื้อที่กว่า 14 ไร่ และเคยมีคนมาขอซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกโดยให้กิโลกรัมละ 20 บาท แต่ทางวัดก็ไม่ขาย เอาไว้สีแจกชาวบ้านได้กินเท่านั้น

 

 

 

 

 

สำหรับ พิณหัสดีกัณฑ์ ทำมาจากชิ้นส่วนของช้าง ถือว่ามีอานุภาพสยบช้าง จะให้ช้างหนีไปก็ได้ หรือจะจับเอาก็ได้ ที่ทางกรมสรรพากรใช้เป็นตราสัญลักษณ์รูปพระเจ้าอุเทนดีดหัสดีกัณฑ์ เพื่อกล่อมประชาชนให้ช่วยกันเสียภาษีบำรุงรัฐ ดร.พระมหาภูลังกา กล่าว.

 

 

 

 

ภาพ/ข่าว กฤษดากร กีรติธำรงค์เจริญ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.สุรินทร์