วันที่ 8 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง หมู่ที่ 5 ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง มีการเพาะเลี้ยงแหนแดงให้ได้มากกว่าเดือนละ 100 กิโลกรัม เพื่อผลิตเป็นพ่อแม่พันธุ์แจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ ได้นำไปเพาะขยายพันธุ์ จนใช้เป็นอาหารของสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู หอยเชอรี่สีทองและปลากินพืชได้ทุกชนิด เนื่องจากมีไนโตรเจนและโปรตีนสูง อีกทั้งยังใช้เป็นปุ๋ยพืชสด หรือนำไปตากแห้ง ใช้ผสมดินแทนพีทมอสที่มีราคาแพงได้เป็นอย่างดี เพราะมีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำ และมีธาตุอาหารที่จำเป็นหลายชนิด ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าแหนแดงมีไนโตรเจนสูงถึง 4-5 % มากกว่าพืชตระกูลถั่วที่มี 2.5-3 % เท่านั้น หากเกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ได้ จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี และดีต่อสุขภาพ แถมแหนแดงอ่อนที่ยังเป็นสีเขียว ยังนำมาใช้ทำอาหาร เช่น ลวกจิ้มน้ำพริก แกงเลียง ผัดน้ำมันหอยและแกงอื่น ๆ ได้