ช่วยเหลือลุงวัย 68 ปี เร่ร่อนอาศัยชายคาวัดกว่า 10 ปี

วันที่ 7 ก.พ.  2567  นายนิติภัทร จอมเมือง นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ สนง.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง พร้อมด้วยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ตรัง อบต.โคกยาง และ รพ.สต.โคกยาง ลงพื้นที่ไปยังวัดโคกยาง อ.กันตัง จ.ตรังเข้าเยี่ยมลุงสันติ ชายวัย 68 ปี โดยคุณลุงสันติมีลักษณะรูปร่างที่ผอมบาง พกพาถุงยารักษาโรคถึงใหญ่ และสะพายกระเป๋า 1 ใบ ใส่เอกสารต่าง ๆ พูดคุยตอบคำถามรู้เรื่อง ซึ่งจากการพูดคุยคุณลุงยังมีความเป็นห่วงเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่สนิทกันมากในละแวกดังกล่าวที่ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ มีอายุที่ไล่เลี่ยกัน แต่ทราบว่าเพื่อนสนิทของคุณลุงมีญาติคอยดูแลเอาใจใส่ โดยตังคุณลุงสันติได้รับการช่วยเหลือจากผู้นำชุมชนให้เข้าถึงระบบสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ และทราบข้อมูลว่าก่อนหน้านี้คุณลุงได้มีอาการป่วยนอนอยู่ซมอยู่ในวัดอาการไม่รู้สึกตัว ปัสสาวะ อุจจาระไหล พระในวัดและชาวบ้านต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล แต่ตอนนี้อาการป่วยดีขึ้นแล้ว ซึ่งจากการพูดจาเกลี้ยกล่อมดูเหมือนว่าคุณลุงยังไม่พร้อมขอเวลาตัดสินใจ

 

 

นายนิติภัทร จอมเมือง นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ กล่าวว่า เดิมทีลุงสันติมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสงขลา ก่อนหน้านี้เคยเร่ร่อนอาศัยอยู่ในวัดหลายแห่งในอำเภอกันตัง ปัจจุบันมาอาศัยอยู่ในวัดโคกยางโดยที่ไม่ได้ติดต่อญาติพี่น้องมาหลายสิบปีแล้ว ทาง พม. ได้รับแจ้งจากคนในพื้นที่ขอความช่วยเหลือจาก พม. เข้ามาช่วยเหลือคุณลุงในด้านคุณภาพชีวิต ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลทราบว่าคุณลุงมาอาศัยอยู่ในวัดเป็นเวลาเกือบ 10 ปี อยู่ตัวคนเดียวไม่มีคนดูแล ในส่วนของคุณลุงสันติเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการคุ้มครองดูแลโดยอาศัย 2 พระราชบัญญัติหลักของ พม. คือ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ และ พระราชบัญญัติคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งครั้งนี้เข้าเยี่ยมและแนะนำเพื่อให้คุณลุงสันติเข้าไปอยู่ในความอุปการะของสถานสงเคราะห์บ้านคนชรา ซึ่งจังหวัดตรังมี สถานสงเคราะห์บ้านคนชราศรีตรัง สังกัด อบจ.ตรัง และจังหวัดตรังสามารถนำส่งได้คือ สถานสงเคราะห์ที่จังหวัดสงขลา คือศูนย์พัฒนาสวัสดิการสังคมจังหวัดสงขลา หรือศูนย์สะบ้าย้อย ซึ่งวันนี้คุณลุงสันติแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ว่าจะขอตัดสินใจก่อนว่าจะเข้ากระบวนการคนไร้ที่พึ่งหรือจะเข้าสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ซึ่งหลังจากได้รับคำตอบแล้ว ทาง พม.ตรังก็จะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ในระยะเบื้องต้นก็จะประสานอาสาสมัคร พม.ในพื้นที่ตำบลโคกยาง อ.กันตัง เข้ามาเยี่ยมเยือนไปดูเป็นระยะเพราะสุขภาพของคุณลุงไม่แข็งแรงต้องไปรับยาตามแพทย์นัดประจำด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนเรื่องของขอทานก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของ พม. ในจังหวัดตรังข้อมูลในระบบมีขอทานจำนวน 7 คน ปัจจุบันมีการติดตามทั้ง 7 ราย ข้อมูลปัจจุบันมีสถานะเป็นศูนย์ราย ซึ่งจะเจอขอทานในจังหวัดตรังในช่วงงานประจำปี เช่น งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจังหวัดตรัง และงานลากพระ ซึ่งจะพบมีขอทานบ้างเล็กน้อยมาอยู่ในงาน ทาง พม.ก็จะมีการชักชวนให้เข้าสู่กระบวนการ แต่ถ้าไม่ประสงค์จะเข้าก็ว่ากล่าวตักเตือน หากมีการมาขอทานซ้ำก็จะมีการทำฑัณฑ์บน และพาไปเปรียบเทียบปรับที่โรงพัก ซึ่งจะเปรียบเทียบปรับตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้ขอทานมีเงินมากเกินไปและลงบันทึกประจำวันไว้ที่โรงพัก เจตนาของ พม. ในเรื่องกฎหมายเน้นในเรื่องการคุ้มครอง ไม่ได้มาเอาผิดหรือการดำเนินคดี แต่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น ส่วนปัญหาที่พบคือ ประสบปัญหารายได้ที่เป็นอยู่ และหารายได้เพิ่มเติมจากงานประจำ แต่จังหวัดตรังยังไม่พบคนขอทานที่ถูกบังคับขู่เข็ญหรือเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์
ผู้ที่ประสบปัญหาทางสังคมหรือพบเจอผู้ที่ประสบปัญหาทางสังคมในจังหวัดตรังไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ สตรีและครอบครัวคนพิการ หรือคนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อน คนขอทานและกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอสไอวี ผู้ป่วยสะเร็งหรือโรคเรื้องรังต่าง ๆ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์จังหวัดตรัง 075-218366 และศูนย์คนไร้ที่พึ่งจังหวัดตรัง 075-501043 นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานกระทรวง พม. อีก 2 หน่วย คือ บ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดตรัง สังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน และสำนักงานเคหะจังหวัดตรัง หรือ สายด่วน 1300

ถนอมศักดิ์  หนูนุ่ม/ จ.ตรัง