ดีอี ขยายความสำเร็จ ขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เต็มสูบ หวังฟื้นภาคการเกษตรไทย รุกต่อยอดใช้โดรนในอุตสาหกรรมหนัก สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สาขาอาชีพอื่นๆ

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ภาคการเกษตรถือเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทย โดยเป็นแหล่งรองรับแรงงานขนาดใหญ่ มากกว่า 40 % แต่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเพียง 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เกษตรกรจึงประสบปัญหาหลักมาจากต้นทุนการเพาะปลูกต่อไร่สูง ขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงขาดทักษะและโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงที่ผ่านมาการส่งเสริมจากภาครัฐเป็นลักษณะการคิดแทน ทำแทน เมื่อโดรนเพื่อการเกษตรเข้ามาช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตร จากข้อมูลโดรนมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนแรงงานลงกว่า 50% และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น 10% โดยปัจจุบันมีโดรนเพื่อการเกษตร ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง จำนวน 9,063 ลำ และเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 11% ปี คาดการณ์ว่าอีก 5 ปี จะมีโดรนเพื่อการเกษตร ไม่น้อยกว่า 80,000 ลำ คิดมูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท
ด้วยการขับเคลื่อนแนวนโยบาย “The Growth Engine of Thailand” ของกระทรวงดีอี มุ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ซึ่งต้องให้ความสำคัญการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) ได้ถูกทำให้เป็นรูปธรรมผ่านโครงการ “1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ)” ด้วยการส่งเสริมให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากฝีมือคนไทยให้มีโอกาสแสดงความสามารถในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าสำนักงาน ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน โดยบริษัท พาวเวอร์ อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการพัฒนาศูนย์พัฒนาทักษะการบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร สำหรับเป็นสถานที่ในการพัฒนาศักยภาพการบังคับโดรนเพื่อการเกษตร ระยะแรก มีการดำเนินงาน 5 จังหวัด คือ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี ชลบุรี และสงขลา พร้อมเปิดบริการเต็มรูปแบบ ครบทุกสาขาภายในปี 2567 รวมถึง เปิดศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร บริการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรให้ชุมชน เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับชุมชนให้แข็งแรง อีกทั้งยังช่วยพัฒนาช่างในวิชาชีพแขนงต่างๆ เช่น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้าวิทยุ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยมีจำนวน 50 ศูนย์ซ่อม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ดำเนินการรูปแบบ Change Agent 1 ศูนย์ซ่อม ดูแลรับผิดชอบ 10 ชุมชน โดยมีเป้าหมาย 50 ศูนย์ซ่อม 500 ชุมชน

แนวความคิดกระทรวง ดีอี มุ่งพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มชุมชน ให้เป็นผู้มีทักษะในการบังคับการบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตรที่ได้รับการใบอนุญาติ/ใบประกาศนียบัตร จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 คน และพัฒนาทักษะการซ่อมบำรุงดูแลรักษาโดรนเพื่อการเกษตร จำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน รวมไปถึงการส่งเสริมมาตรฐานโดรนเพื่อการเกษตรดีชัวร์ (dSURE) สำหรับผู้ประกอบการโดรน เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเทคโนโลยีดิจิทัลประเภทโดรนเพื่อการเกษตร ผ่านมาตรฐานดีชัวร์ (dSure) ที่ได้รับการรับรองจากดีป้า โดยมีผู้ประกอบการโดรนเพื่อการเกษตรที่ผ่านมาตรฐานดีชัวร์แล้ว จำนวน 6 บริษัท 7 รุ่น ซึ่งผลดีจากการดำเนินงานนั้น โดรนเกษตรช่วยการประหยัดค่าแรงงานคนในการฉีดพ่นสารเคมีในพื้นที่ 1 ไร่ ลงประมาณ 50% ของการใช้แรงงานคน คิดเป็นมูลค่า 2,500 บาท/ไร่/ฤดูกาล และมีความแม่นยำในการฉีดพ่น ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวได้ 10% ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ตามปริมาณผลผลิต ผลผลิตเฉลี่ยของข้าวต่อไร่อยู่ที่ 500 กิโลกรัม ราคาข้าวต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 10 บาท การเพิ่มผลผลิต 10% จะส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 บาท/ไร่/ฤดูกาล สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาสในการเข้าถึงและพัฒนาทักษะดิจิทัล จำนวนทั้งสิ้น 1,100 คน รวมไปถึงส่งเสริมการใช้งานโดรนเพื่อการเกษตรกว่า 500 ชุมชน (10,000 ครัวเรือน) ครอบคลุมพื้นที่ 4 ล้านไร่ จะทำให้กลุ่มเกษตรกร ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ลบ.

ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยว่า ขณะนี้ มี ดีป้า ได้เปิดรับสมัคร เกษตรกร บินได้ ซ่อมเป็น รอบที่ 1: วันที่ 14 พ.ย. 66 – 15 ม.ค. 67 มีผู้สมัครมาทั้งสิ้น 518 ชุมชน, 78 ศูนย์ซ่อม และ รอบที่ 2: วันที่ 16 ม.ค. – 15 มี.ค. 67 อยู่ระหว่างการรับสมัคร จึงอยากเชิญชวน พี่น้องเกษตรกรที่สนใจให้มาสมัครในโครงการนี้ เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรเอง โดยในระยะเวลา 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศจำนวน 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 500 ชุมชน คิดเป็นพื้นที่ทางการเกษตรรวมไม่น้อยกว่า 4 ล้านไร่ พร้อมคาดหวังว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนโดยกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมีมาตรฐาน Safety, Functionality, Security รวมทั้งการต่อยอดในการใช้โดรนไปยังสาขาวิชาชีพอื่น ๆ เช่น ก่อสร้าง การขนส่ง การสำรวจ หรือแม้แต่การขนย้ายคนในกรณีฉุกเฉิน เช่น เพลิงไหม้ ขนย้ายผู้บาดเจ็บภายในอาคาร รวมถึงการขยาย พัฒนาซอฟแวร์โดรนและสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้านการคมนาคมทางอากาศอีกด้วย

ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า ย้ำอีกว่า ความร่วมมือภายใต้โครงการประกอบด้วย ความร่วมมือด้านการพัฒนาหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล ความร่วมมือด้านการส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลกับกลุ่มชุมชนในห่วงโซ่การผลิต ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ ความร่วมมือด้านการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรน และความร่วมมือด้านการพัฒนาหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนระหว่างดีป้าและเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สถาบันการบินพลเรือน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมวิชาการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุรนารี และผู้ประกอบการโดรนในประเทศเกษตรกรและชุมชนที่สนใจ รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถติดตามข่าวสาร และศึกษารายละเอียดโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ได้ที่ Facebook Page : depaThailand หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 08-5125-1340 และ 08-2516-6224.

 

…..สราวุฒิ บุญสร้าง ผู้สื่อข่าวภูมิภาคฉะเชิงเทรา