“อนุชา” ลงพื้นที่พบสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เยี่ยมชมผลผลิตวัวพันธุ์ไทยยอดนิยม “โคราชวากิว”

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 เวลา 13.00 น. ที่ฟาร์มมหาวิทยาลัยโนโลยีสุรนารี (ฟาร์มโคเนื้อวากิว) ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เป็นประธานเปิดงาน “สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง” ภายใต้โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมี นายศุภนิมิต เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

 

นายอนุชา กล่าวว่า การลงพื้นที่ มาดูผลผลิตวัวพันธุ์ไทยยอดนิยม “โคราชวากิว” รู้สึกดีใจแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ได้เห็นถึงอนาคตของลูกหลานผู้เลี้ยงวัว ที่จะมีโอกาสร่ำรวยจากการเลี้ยงวัว ไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น โดยเฉพาะพี่น้องภาคอีสาน ซึ่งมีพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงโค และวันนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ประเทศไทยจะมีอาคารปฎิบัติการชำแหละและตัดแต่งเนื้อโคมาตรฐาน GMP และฮาลาลเพื่อการส่งออก ที่ได้มาตรฐานแห่งแรกของประเทศ ซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ถือเป็นสถานที่ ในการวิจัยพัฒนาและสร้างระบบนิเวศ ด้านการผลิตโคไทยวากิว เพื่อให้เป็นอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ทำให้เกิดการส่งออกเนื้อวัวมากยิ่งขึ้น สร้างมูลค่าทางการตลาด ซึ่งเมื่อตลาดมีความต้องการมากขึ้น จะทำให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวมีรายได้มากยิ่งขึ้นตามลำดับ

 

 

 

 

 

นายอนุชา กล่าวไว้ว่า การผลิตโคเนื้อในประเทศ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ที่สำคัญ ตลาดส่งออกเนื้อโค โดยเฉพาะในตลาดประเทศอาเซียน รวมถึงตลาดโลก ยังมีช่องว่างให้เกษตรกรไทย ได้นำโคเนื้อเข้าสู่ตลาดอีกมาก เพราะประเทศผู้ผลิตเนื้อโคของโลก โดยเฉพาะออสเตรเลีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้การส่งออกเนื้อโคของประเทศดังกล่าวลดลง จึงเป็นโอกาสทองให้ไทยสามารถส่งออกเนื้อโคได้มากขึ้น ซึ่งความต้องการของตลาดโลก ในปี 2566 คาดว่าจะมีการบริโภคเนื้อโคปริมาณ 56.846 ล้านตัน โดยสหรัฐอเมริกามีการบริโภคมากที่สุด ปริมาณ 12.185 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ จีน 10.330 ล้านตัน และบราซิล 7.547 ล้านตัน

 

 

 

“จากความต้องการโคเนื้อในตลาดโลก สอดคล้องกับการที่กองทุนหมู่บ้าน ฯ ได้ทำโครงการโคล้านครอบครัว ทำให้พี่น้องประชาชนมีโอกาสจับเงินแสน เงินล้านได้จากการทำอาชีพเกษตร-ปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงโค เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะโคกินหญ้าที่สามารถหาได้ตามพื้นที่ในชุมชน อีกทั้ง ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้าน ฯ เพื่อเป็นแหล่งทุนให้พี่น้องสมาชิกฯ กู้ยืมเงินสำหรับเลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะ ครอบครัวไม่เกิน 50,000 บาท คาดว่า 3 ปี จะสามารถคืนทุนได้ โดยตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป จะเป็นกำไรของพี่น้องประชาชน ขอให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ ขอเพียงให้พี่น้องอดทน ตั้งใจ และต้องหมั่นศึกษาอัพเดทองค์ความรู้ใหม่ ให้ทันกระแสโลกด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ ไทยสามารถผลิตโคเนื้อวากิว ชื่อพันธุ์ “โคราชวากิว” เนื้อคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมเทียบเท่าออสเตรเลียและญี่ปุ่นได้แล้ว ด้วยการนำนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เข้ามาช่วยส่งเสริมในอาชีพ เกษตรกรต้องหมั่นศึกษาหาองค์ความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนาในสายอาชีพอยู่เสมอจึงจะสามารถก้าวทันต่างประเทศ และหลุดพ้นความยากจนไปได้” นายอยุชา ย้ำ

รองศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส.เจ้าของผลงานวิจัยและปรับปรุงสายพันธุ์ การผลิตโคพันธุ์โคราชวากิว เปิดเผยว่า วัวพันธุ์ “โคราชวากิว” เป็นคุณภาพเนื้อจากวัวลูกครึ่งที่สามารถผลิตได้ในไทย โดยได้นำวัววากิวแท้จากญี่ปุ่นมาผสมกับวัวไทย เพื่อให้ได้วัวลูกครึ่ง แล้วนำวัวลูกครึ่งมาทำการขุน เลี้ยงตามกระบวนการผลิตวัววากิวของญี่ปุ่นทุกขั้นตอน เพื่อให้มีไขมันแทรกในเนื้อสูงขึ้น ทำให้เนื้อวัวมีคุณภาพที่ดี เราจึงได้วัวสายพันธ์ของไทยชื่อว่า “โคราชวากิว” นั่นเอง ซึ่งคุณภาพเนื้อโคราชวากิวของเราเทียบเท่ากับเนื้อวากิว ออสเตรเลีย วัวลูกผสมของเราเนื้อคุณภาพได้เกรด 9 แต่ราคาถูกกว่าออสเตรเลีย ลดการนำเข้าเนื้อจากออสเตรเลียได้เลย และเนื้อโคราชวากิวของเราสู้ราคาเนื้อวากิวลูกผสมจากญี่ปุ่นได้สบายๆ แถมราคาถูกกว่าด้วย เพราะการนำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นมีต้นทุนที่แพง การผลิตวัวโคราชวากิว จึงสามารถลดการนำเข้าเนื้อจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี และยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนผู้ทำอาชีพเกษตร-ปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงวัวมีรายได้สูงขึ้นด้วย ศูนย์วิจัยที่นี่ มีเกษตรกรภาคอีสานทุกจังหวัดเข้ามาศึกษาดูงานมากมาย แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้ นำไปปฏิบัติ นำไปเลี้ยงวัว จนได้เนื้อวากิวที่มีคุณภาพจากหลากหลายที่ เช่น นำไปเลี้ยงที่สุรินทร์ กลายเป็นสุรินทร์วากิว สุรินทร์โกเบ ขอนแก่นวากิว ระยองวากิว เป็นต้น ปัจจุบันนี้ฐานความรู้ของศูนย์วิจัยแห่งนี้ กลายเป็นแหล่งกระจายความรู้การเลี้ยงวัววากิวไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไปแล้ว ทุกวันนี้เรากำลังต่อยอดไปสู่ “เนื้ออีสานวากิว” ยกระดับสู่การส่งออกเนื้ออีสานวากิวไปแข่งกันสู่ตลาดโลกอีกด้วย”

 

 

 

 

 

สำหรับการจัดงาน“สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง”ครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดงานครั้งที่ 5 โดยมี กลุ่มเป้าหมายหลัก จากสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ ในพื้นที่รับผิดชอบ 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์ เข้าร่วมกิจกรรมอัพเดทองค์ความรู้มากมาย ได้แก่ กิจกรรมเสวนาโดยกองทุนหมู่บ้านต้นแบบ “ทำแล้ว ทำง่าย ทำได้…ไม่ยาก” โดยกองทุนหมู่บ้านดอนกอก หมู่ที่ 2 ตำบลหนองพลวง อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Up Skill เรื่อง โคล้านครอบครัว จากวิทยากร รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อวากิวสัญชาติไทย รวมถึงกิจกรรม Business Matching และยังมีนิทรรศการให้ความรู้จาก กทบ. สำหรับการจัดงานครั้งที่ 6 ขอเชิญชวนสมาชิกกองทุน ฯ จังหวัดนครนายก และพื้นที่ใกล้เคียง มาร่วมงานเพื่อนำองค์ความรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จนำไป พัฒนา ต่อยอดให้คนในครอบครัว รวมถึงชุนชนมีรายได้ที่มั่นคง โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ณ จังหวัดนครนายก ต่อไป.

 

 

 

 

 

ภาพ/ข่าว  อภิรักษ์ ศรีอัศวิน ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำ จ.นครราชสีมา