อุทยานแห่งชาติฯ พีพี ดีเดย์ จัดระเบียบการท่องเที่ยวอ่าวปิเละ เกาะพีพี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่  17 มีนาคม 2567 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี นำโดยนายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี พร้อมด้วยนายสิรณัฐ สก็อต ที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายจินดา ศรีสุพพัตพงษ์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง และพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ จำนวน 25 นาย พร้อมเรือตรวจการณ์ จำนวน 2 ลำ เรือยางท้องแข็งจำนวน 2 ลำ ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ มาตรการและข้อปฏิบัติว่าด้วยการเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวอ่าวปิเละ ตามประกาศอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ลงฉบับวันที่ 13 มีนาคม 2567 ซึ่งเริ่มบังคับใช้มาตรการในการท่องเที่ยวในอ่าวปิเละ ในวันที่ 17 มีนาคม 2567 เป็นวันแรก ซึ่งที่มาในการจัดระเบียบการท่องเที่ยวในอ่าวปิเละในครั้งนี้ สืบเนื่องมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 67 อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ดำเนินการจัดประชุม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ชมรมผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเกาะพีพี ชมรมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะพีพี กลุ่มพิทักษ์พีพี ชมรมเรือหางยาวเกาะพีพี ผู้ประกอบการเรือหางยาว และผู้ประกอบการท่องเที่ยว ณ ห้องประชุมโรงแรม พีพี อันดามัน บีช รีสอร์ท (เกาะพีพี) จังหวัดกระบี่ ในที่ประชุม และได้มีมติที่ร่วมกันที่ในการจัดระเบียบการท่องเที่ยวในอ่าวปิเละลากูน เพื่อลดปัญหาความหนาแน่นของเรือที่เกิดจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย มีภูมิทัศน์ไม่สวยงาม เกิดมลพิษ ทั้งทางด้านเสียงจากเครื่องยนต์เรือ และมลพิษทางอากาศ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้าไปได้รับโดยตรง ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะหาแนวทางในการจัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งอุทยานแห่งชาติได้ดำเนินการในการติดตั้งทุ่นจอดเรือ และทุ่นไข่ปลาเพื่อกำหนดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวเล่นน้ำได้ในพื้นที่ปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว หลังจากการประชุมดังกล่าวได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมี นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ประธานในที่ประชุม โดยมติที่ประชุมเห็นชอบ ให้เร่งดำเนินการจัดระเบียบการท่องเที่ยวภายในอ่าวปิเละ เพื่อลดความแออัด และความหนาแน่นของเรือนำเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการลดผลกระทบที่อาจส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยากแก่การฟื้นฟูภายหลัง

 

จึงได้กำหนดมาตรการและข้อปฏิบัติว่าด้วยการเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวอ่าวปิเละ จำนวน 11 ข้อ ดังนี้
1. เรือทุกลำที่เข้าดำเนินกิจกรรมบริการนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวในอ่าวปิเละ เกาะพีพีเล ต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2. ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนถ่ายนักท่องเที่ยวจากเรือสปีดโบ๊ท ไปยังเรือหางยาวภายในบริเวณอ่าวปิเละ กิจกรรมการถ่ายลำจากเรือขนาดใหญ่ไปยังเรือหางยาวต้องดำเนินการนอกอ่าวปิเละ หรือบริเวณที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น
3. การประกอบกิจกรรมเล่นน้ำ ดำน้ำตื้น (Snorkeling) ของนักท่องเที่ยว ให้กระทำได้ในบริเวณที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น
4. ห้ามมิให้มีการประกอบกิจกรรมพายเรือคายัค เซิร์ฟบอร์ด ซับบอร์ดทุกชนิด หรืออุปกรณ์สำหรับกิจกรรมทางน้ำชนิดอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียง
5. ห้ามเรือทุกชนิดที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปจอดเรือภายในอ่าวปิเละ การจอดเรือต้องจอดในบริเวณที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น
6. เรือที่เข้าไปประกอบกิจกรรมในอ่าวปิเละ ต้องใช้ความเร็วในการเดินเรือไม่เกิน 3 นอต
7. เรือที่เข้าไปยังอุทยานแห่งชาติต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีการรั่วไหลของน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันเครื่อง เครื่องยนต์ไม่มีเสียงดัง หรือควันดำที่ผิดวิสัย
8. การจอดเรือต้องจอดในบริเวณทุ่นจอดเรือ หรือบริเวณที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้และห้ามไม่ให้เรือทุกลำทิ้งสมอในแนวปะการัง
9. ห้ามมิให้เก็บหา นำออกไปหรือกระทำการใดๆ ให้เกิดความเสียหายแก่ปะการัง สัตว์น้ำ และสิ่งมีชีวิต รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในเขตอุทยานแห่งชาติ
10. เพื่อป้องกันผลกระทบต่อแนวปะการังในเส้นทางเข้า-ออกเรือ โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าอ่าวในช่วงน้ำขึ้นลงตามช่วงเวลา กำหนดให้การเดินเข้า-ออก ของเรือ ต้องปฏิบัติตามมาตรการแนบท้ายประกาศฉบับนี้
11. บุคคลเข้าไปในอุทยานแห่งชาติต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น หรือตนเอง หรือเป็นการรบกวนและทำให้เกิดความเดือดร้อนประการใดแก่บุคคลหรือสัตว์ป่า หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งห้ามมิให้ผู้นั้นกระทำการดังกล่าวต่อไปได้ ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

 

 

โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการ มัคคุเทศก์ ไกด์นำเที่ยว ผู้ให้บริการเรือหางยาว รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยว ถึงมาตรการดังกล่าว จากการประชาสัมพันธ์ดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเรือหางยาว ผู้ประกอบการเรือสปีดโบ๊ทบนเกาะพีพี รวมถึง กัปตันเรือ และมักคุเทศก์ และผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่เข้ามาท่องเที่ยว ที่จะให้ความร่วมกับอุทยานแห่งชาติดำเนินการตามข้อปฏิบัติดำเนินการตามแนวทางและกฎระเบียบที่กำหนด เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวได้รับการจัดการที่เหมาะสม สามารถใช้อำนวยประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่และของประเทศ ให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เข้ามาท่องเที่ยวยังเกาะพีพี ได้รับความประทับใจทั้งในเรื่องของความสวยงานของแหล่งท่องเที่ยว มาตรการจัดการความปลอดภัยในการเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยว เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป