ยะลาภัยแล้งส่งผลกระทบฝายแห้งน้ำไม่พอผลิตประปาชาวบ้านนับพันครัวเรือนเดือดร้อน

วันที่ 27 มี.ค. 2567  นายวีระ อุทิศานนท์ ประธานสภาเทศบาลตำบลธารน้ำทิพย์เปิดเผยว่า ฝายกักเก็บน้ำบ้านอัยเยอร์เบอร์จัง หมู่ที่ 1 ต.ธารน้ำทิพย์ อ.เบตง จ.ยะลา มีสภาพเริ่มแห้งขอดประกอบกับฝายน้ำมีลักษณะตื้นเขินทำให้กักเก็บน้ำได้น้อยลง ไม่เพียงพอผลิตน้ำประปาภูเขา ส่งผลให้ประชากรรวมกันกว่า 1,500 ครัวเรือน ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ธารน้ำทิพย์ ประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องน้ำกินน้ำใช้ เนื่องจากปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และยังไม่ทราบว่าจะเอาน้ำที่ไหนมาผลิตน้ำประปาให้ประชาชนได้ใช้ในช่วงหน้าแล้งนี้

นายวีระ อุทิศานนท์ ประธานสภาเทศบาลตำบลธารน้ำทิพย์ เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมาเข้าสู่หน้าร้อนในพื้นที่ ต.ธารน้ำทิพย์ ยังเคยพบวิกฤติขาดแคลนน้ำมากขนาดนี้ ประกอบกับการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ นำน้ำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยชาวบ้านหากใช้เพียงอุปโภค บริโภค คงเพียงพอ แต่ชาวบ้านที่มีสวนทุเรียนจะนำน้ำไปใช้ หากเป็นแบบนี้น้ำที่ยังไหลอยู่คงไม่เพียงพอ ส่วนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งนี้ทางเทศบาลตำบลธารน้ำทิพย์ จะระดมกำลังชาวบ้านและกำลังทหารในพื้นที่เข้ามาขุดลอกฝาย ขุดลอกใบไม้ทับถม ที่อุดตันหน้าฝาย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระดับหนึ่งก่อน ซึ่งตอนนี้ปลายน้ำเริ่มจะไม่มีน้ำไหลแล้ว ซึ่งเป็นน้ำอุปโภค บริโภค ของชาวบ้าน ปัญหาหลักของการขาดแคลนน้ำนี้มาจาก หน้าแล้ง ซึ่งปีนี้แล้งหนักมาก ส่วนฝนที่ตกที่ผ่านมาฝนตกเพียง สองครั้งและไม่ตกอีกเลย อีกอย่างคือการใช้น้ำของเกษตรกรโดยเฉพาะผู้ปลูกทุเรียนจะใช้น้ำเยอะมากในการให้น้ำทุเรียน ยิ่งตอนนี้ทุเรียนเริ่มออกดอกอีกด้วย ตลอดเส้นทางเข้าฝายน้ำ จะเห็นการต่อท่อน้ำเข้าสวนทุเรียน สวนผลไม้ ซึ่งเป็นเส้นเดียวที่มาจากฝายน้ำล้น ซึ่งความจริงแล้วหากทำการเกษตรหรือทำสวนอื่นๆจะต้องมีบ่อน้ำของตนเองโดยทำการขุดบ่อ เพื่อกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ปัจจุบันเกษตรกรบางรายไม่นึกว่าจะแล้งถึงขนาดนี้ จึงไม่ได้มีการทำที่กักเก็บน้ำในภาคการเกษตร จึงได้นำน้ำจากประปาภูเขา ที่ไหลมาจากฝายน้ำล้น นำมาใช้ในการเกษตร ทำให้ปริมาณน้ำที่ปลายน้ำ กลางน้ำ มีน้ำไม่ไหลหรือไหลน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการ อุปโภค บริโภค ส่วนเกษตรกรที่ทำสวนทุเรียน สวนผลไม้ เป็นหลัก เขาจะมีแหล่งน้ำ โดยที่ไม่นำน้ำจากฝายน้ำมาใช้แต่อย่างไรก็ตามตามเส้นทางจากการสำรวจพบว่า ยังมีเกษตรกร บางรายนำน้ำจากฝายน้ำไปใช้ทางด้านการเกษตรอยู่ ซึ่งทางเทศบาลฯจะเข้าไปปรึกษาหารือเรื่องน้ำต่อไป

 

แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นไปได้อยากขอกำลังทหาร นำเครื่องจักร มาช่วยขุดลอกเนื่องจากในโซนป่านี้เป็นเขตของกรมป่าไม้ ซึ่งในบางครั้งในการเข้าช่วยเหลือชาวบ้านก็มีขีดจำกัด ไม่ว่าเรื่องบประมาณ และอยู่ในเขตป่าสงวน หากเห็นใจชาวบ้านจริงๆ ควรจะพิจารณา ตรงข้อจำกัดตรงนี้ด้วย นายวีระ อุทิศานนท์ ประธานสภาเทศบาลตำบลธารน้ำทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย

เจษฎา สิริโยทัย / จ.ยะลา