ตรังจัดโครงการรวมพลคนรักษาทะเล เพื่อลดมลภาวะทางทะเล

ผู้สื่อข่าวรายว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ที่เกาะเบ็ง (เกาะตะเกียง) ต.เกาะสุกร  อ.ปะเหลียน จ.ตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดโครงการรวมพลคนรักษาทะเล เก็บขยะทะเลเกาะเบ็ง (เกาะตะเกียง) เพื่อลดมลภาวะทางทะเล และภัยสุขภาพจากไมโครพลาสติก ภายใต้การขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทำความดีด้วยหัวใจลดภัยสิ่งแวดล้อม โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายต่างๆ และชาวประมงพื้นบ้าน เข้าร่วมกิจกรรม

ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอย โดยเฉพาะขยะทะเลเป็นขยะอีกประเภทหนึ่ง ที่เราจะต้องรีบดำเนินการจัดการและแก้ไขปัญหาซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วขยะทะเลจะมาจากฝีมือมนุษย์บนฝั่งและส่วนใหญ่เป็นประเภทโฟมและพลาสติก ซึ่งจะก่อให้เกิดไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร และกลับคืนสู่ร่างกายของมนุษย์ในที่สุด นอกจากนี้ขยะพลาสติกยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล สัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของการตายพะยูนมาเรียม  ที่ผ่านมา ในปัจจุบันขยะมูลฝอยเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นวาระสำคัญของโลกและประเทศไทย โดยประเทศไทยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) หรือที่เรียกว่า NDC (Nationally Determined Contribution) มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20-25 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) ซึ่งหลายๆ  กระทรวง รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาและเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

สำหรับประเทศไทยติดอันดับ 10 ของโลกที่มีขยะรั่วไหลลงทะเล โดยร้อยละ 80  ของขยะทะเลมาจากขยะบก และร้อยละ 20 เกิดจากกิจกรรมในทะเล (เช่นการประมง การขนส่งทางน้ำ การท่องเที่ยว) โดยร้อยละ 90 ของขยะที่รั่วไหลลงทะเลเป็นโฟม และพลาสติกในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะแตกสลายเป็นไมโครพลาสติกหรือพลาสติกขนาดเล็ก ปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารทะเล ซึ่งย้อนกลับมาสู่มนุษย์ด้วยการบริโภค อาหารทะเลที่เจือปนพลาสติกเหล่านั้น จังหวัดตรังได้ให้ความสำคัญถึงปัญหาขยะพลาสติก โฟมและอื่นๆ ที่ถูกพัดพามากับคลื่นลมทะเลสะสมอยู่จำนวนมาก บนเกาะเบ็ง (เกาะตะเกียง) ซึ่งในวันนี้ได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ เก็บขยะกลับคืนสู่ฝั่ง และคัดแยกขยะเพื่อเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ส่วนที่เหลือเป็นขยะพลาสติก บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด จะนำไปกำจัดใช้เป็นเชื้อเพลิง ณ โรงงานปูนซีเมนต์ทุ่งสงต่อไป

ถนอมศักดิ์  หนูนุ่ม / จ.ตรัง