ม.วลัยลักษณ์ พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาวิชาการการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน “SoTL9”

วันที่ 5 เม.ย. 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดโครงการสัมมนาวิชาการการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ครั้งที่ 9 (Scholarship of Teaching and Learning : SoTL9) ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้หัวข้อ “Evolving Pedagogies and Thai Higher Education” มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สมัยใหม่ที่พัฒนาระบบการจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต สู่การพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีมาตรฐานระดับสากล ระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2567 นี้ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โครงการสัมมนาวิชาการการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน (SoTL9) ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สถาบันคลังสมองของชาติ และ 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนาการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล”ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การปฏิรูปการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์”และรองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของขาติ พร้อมการบรรยายในหัวข้อ “Co-Creating Education”พัฒนาทักษะรุ่นใหม่ตอบโจทย์ความต้องการของโลก โดยรองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไฮไลท์ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ การบรรยายพิเศษ การเสวนาวิชาการ การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการศึกษา จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและการจัดแสดงนิทรรศกาลด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการศึกษา (Modern Education Expo) กิจกรรมการนำเสนอผลงาน Show and Share ด้านสื่อและนวัตกรรมทางด้านการเรียนการสอน

ทั้งนี้ขอเชิญชวนผู้สนใจส่งผลงานสื่อและนวัตกรรมการเรียนการสอนเข้าร่วมประกวด ใน 3 ประเภท คือ 1.นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์ทางการเรียนการสอน (Product Innovation) 2.นวัตกรรมเชิงกระบวนการทางการเรียนการสอน (Process Innovation) และ 3.นวัตกรรมบริการทางการเรียนการสอน (Service Innovation) โดยสามารถส่งผลงานได้จนถึงวันที่ 20 เมษายน 2567 นี้ ผู้สนใจสามรถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่เว็บไซต์ https://sotl9.wu.ac.th/

 

ชชาดล  เจริญพงศ์ / จ.นครศรีธรรมราช