หน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประชุมติดตามผลการดำเนินการของคณะทำงานปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤต จากกรณีน้ำเค็มรุกล้ำคลองประเวศบุรีรมย์ หลังทำนบดินงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่วทรุดตัว

วันที่ 21 เมษายน 2567 เวลา 10.00 น. ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จังหวัดฉะเชิงเทรา นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประธานหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามผลการดำเนินการของคณะทำงานปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤต และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล กล่าวว่า จากการประชุมติดตามผลการดำเนินงาน และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ ครั้งนี้ พบว่าทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันดำเนินการอย่างเต็มที่ ในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั้งในเรื่องของน้ำอุปโภค บริโภค การให้คำแนะนำพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเรื่องของการทำประมง การนำจุลินทรีย์ไปแจกจ่ายในเบื้องต้น เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำ ในระหว่างที่ยังไม่สามารถสูบน้ำจากคลองต่างๆ ไปใช้เพื่อทำการประมง หรือทำการเกษตรได้

ในส่วนของการบริหารจัดการของกรมชลประทาน ที่ได้ดำเนินการเร่งผลักดันน้ำเค็มลงสู่แม่น้ำบางปะกง ทำให้เห็นผลค่าความเค็มจากคลองต่างๆ ลดลงจากเดิมมากอย่างเห็นผลได้ชัดในหลายๆ คลอง จากช่วงที่เกิดเหตุระยะแรกค่าความเค็มอยู่ที่ประมาณ 20 กว่ากรัม/ลิตร ขณะนี้ หลายคลองมีปริมาณความเค็มเหลือไม่ถึง 5 กรัม/ลิตร ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี

แต่ทั้งนี้ยังมีส่วนของพื้นที่คลองพระยานาคราช ที่ยังมีปัญหาในการระบายน้ำเค็มได้ค่อนข้างช้า ทำให้ปริมาณค่าความเค็ม ยังสูงเกินกว่า 20 กรัม/ลิตร อยู่ ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ร่วมกันพิจารณาว่าอาจจะต้องมีการระบายน้ำเค็ม ออกไปทางคลองสำโรง แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องมีการระบายน้ำเค็มออกไปทางคลองสำโรง ต้องมีการสำรวจในเรื่องของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืชในบริเวณดังกล่าว โดยจะได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าคุณภาพของน้ำในระยะแรกที่ได้ระบายออกไปอาจมีค่าความเค็มสูงขึ้น เพื่อไม่เป็นการสร้างปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว

การบูรณาการทำงานกันอย่างเต็มที่ของทุกภาคส่วน ณ ขณะนี้ โดยมุ่งหวังว่าในเร็ววันนี้คลองต่างๆ ที่เกษตรกรใช้เป็นแหล่งน้ำ เพื่อทำการประมง ทำการเกษตร รวมถึงใช้ในการอุปโภคบริโภค จะกลับคืนมาสู่สถานการณ์ที่ดีได้ในเร็วที่สุด

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้กรมประมงจัดทำแผนตรวจวัดคุณภาพน้ำในแต่ละคลองด้วยว่า จะต้องมีคุณภาพน้ำที่ค่าความเค็มต้องไม่เกินปริมาณเท่าไหร่ ค่าออกซิเจนในน้ำต้องอยู่ในระดับใด ที่อยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำสามารถใช้น้ำในการเลี้ยงสัตว์น้ำได้ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนที่จะนำน้ำจืดมาเจือจางให้คุณภาพของน้ำดีขึ้นโดยเร็ว เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีค่อนข้างจำกัด และช่วงนี้ถือว่าอยู่ในช่วงฤดูแล้ง จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอยู่ขณะนี้โดยเร็วที่สุด และเกิดความเสียหายน้อยที่สุด

อาษา/ปรีญาภรณ์/ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา