บุกศาลากลางผู้ใช้แรงงานถูกเลิกจ้างงานของบริษัทเดือดร้อนหนักไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟค่าผ่อนรถ

ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดห้องให้กำลังใจลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานนายจ้างฯ และหาแนวทางให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นโดยเร็ว
จากกรณี บริษัทแห่งหนึ่ง สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานสาขาสถานที่ทำงานของลูกจ้าง อยู่ ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบกิจการผลิต นำเข้า ส่งออก ซึ่งก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 21 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 บริษัทแจ้งขอหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 หลายครั้ง และเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 บริษัทฯ ได้เลิกจ้างลูกจ้าง โดยระบุเหตุแห่งการเลิกจ้าง คือ ปรับลดอัตรากำลังพนักงาน โดยให้มีผลสิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ 30 เมษายน 2567 ซึ่งในหนังสือเลิกจ้างระบุว่า บริษัทฯ นายจ้าง จะจ่ายเงินกรณีหยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 แต่เมื่อถึงกำหนดนัด บริษัทฯ นายจ้าง ไม่จ่ายเงินดังกล่าว

โดยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 47 คน มาพบพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อยื่นแบบคำร้องทุกข์ (คร.7) กรณี นายจ้าง ค้างจ่ายเงินกรณีหยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ทำให้ได้รับความเดือนร้อนอย่างหนัก เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายทั้งค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าไฟฟ้า ที่ค้างจ่าย และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพ บางคนกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อน เพราะต้องการรอเงินก้อนนี้ เนื่องจากเดือนที่แล้วทุกคนไม่ได้รับเงินเดือน ทุกคนที่มาในวันนี้ต่างลำบาก บางคนค่าผ่อนรถยนต์เข้าเดือนที่ 3 แล้ว หากไม่มีจ่าย ก็คงถูกยึดรถ ซึ่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการรับคำร้องทุกข์ ชี้แจงกระบวนการรับและวินิจฉัยคำร้อง และชี้แจงสิทธิการขอใช้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ให้ลูกจ้างทราบในเบื้องต้น
และในวันนี้ (4 มิถุนายน 2567) เวลา 08.15 น. ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 38คนได้มาพบพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อยื่นแบบคำร้องทุกข์ (คร.7) กรณีเดียวกัน โดยมีลูกจ้างที่ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เดินทางมารวมกันในวันนี้ รวมทั้งสิ้นจำนวน 87 คน
นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับทราบปัญหา และได้เปิดห้องพูดคุยให้กำลังใจแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และมีความห่วงใยผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจาก โดยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการ เร่งหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น และระยะยาวโดยเร็วต่อไป

ในส่วนของการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยนางสุวรรณา ขันติวิศิษฎ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีหนังสือเชิญพบนายจ้างในวันที่ 7 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องทุกข์ (คร.7) นอกจากนี้ยังได้ให้คำแนะนำแก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างเกี่ยวกับกรณีค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ที่ค้างจ่าย โดยรับจะเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประสานขอผ่อนผันการจ่ายชำระค่าใช้จ่ายที่ยังคงค้างอยู่
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยนางปราณี ประทุมมา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ร่วมชี้แจงสิทธิ หน้าที่ และหลักเกณฑ์ ในการขอรับความช่วยเหลือตามภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาทิเช่น เงินสงเคราะห์ครอบครัว กรณี ฉุกเฉิน เงินทุนกู้ยืมประกอบอาชีพสำหรับครอบครัวที่ดูแลคนพิการและผู้สูงอายุ และการขอรับสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สำหรับครอบครัว ที่เลี้ยงดูบุตรอายุไม่เกิน 6 ปี ตามที่หลักเกณฑ์กำหนด ด้วย

 

อาษา/ปรีญาภรณ์/ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา