HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

ชาวนาแปดริ้วร้องเดือดร้อนหนัก เจ้าของที่ขุดดินทะลุตาน้ำเค็มปล่อยไหลลงคลองธรรมชาติ ชาวนาสูบน้ำเข้านาทำข้าวตายกว่า 500 ไร่ เกษตรกรอ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทราโอดควรร้องเดือดร้อนหนัก หลังเจ้าของที่ดินขุดดินในพื้นที่ตนเอง ก่อนจะขุดทะลุตาน้ำเค็มแล้วปล่อยไหลลงตามคลองธรรมชาติ ทำเกษตรกรในพื้นที่ไม่รู้สูบน้ำเข้าทำนาข้าวยืนต้นตายได้รับความเสียหายเกือบ 500 ไร่

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ (24 มิ.ย.67) ชาวบ้านได้พาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บริเวณหมู่ที่ 5 ตำบลเมืองใหม่ อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ดูความเสียหายของผลผลิตข้าวของเกษตรกร หลังจากเกษตรกรในพื้นที่ ต.เมืองใหม่ อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทราได้ร้องเรียนผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง ในกรณีที่เกษตรกรที่ทำนา ปลูกข้าว และใช้น้ำจากคลองชลประทานบางพุทธา บริเวณหมู่ที่ 1, 4, 5, 6, 7, 8 ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีผู้รับเหมาทำการขุดบ่อดินถมดินเพื่อก่อสร้างฟาร์มไก่ ในพื้นที่ หมู่ 3 ต.เมืองเก่า อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกันกับต.เมืองใหม่ ของอ.ราชสาส์น โดยพบว่าเจ้าของที่และผู้รับเหมาทำการขุดบ่อดินเพื่อนำมาถมที่ เพื่อก่อสร้างฟาร์มไก่ หลังจากที่ขุดดินลงไปลึกคาดว่าตาน้ำดังกล่าวอาจจะเป็นตาน้ำเค็มจากใต้ดิน ซึ่งน้ำมีค่าความเค็มในระดับสูงได้ผุดขึ้นมาด้วย อีกทั้งผู้รับเหมาได้ทำการสูบระบายน้ำดังกล่าวออกจากพื้นที่ลงสู่คลองชลประทานบางพุทธา เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อโดยไม่ทราบว่าน้ำที่สูบระบายออกไปนั้น มีค่าความเค็มสูงเกินกว่าที่จะนำไปใช้เพื่อการเกษตรได้ ส่งผลให้มีเกษตรกรที่สูบน้ำจากคลองชลประทานบางพุทธาเข้าใส่นา เป็นผลให้ผลผลิตข้าวในนาได้รับความเสียหาย จึงได้ทำการร้องเรียนมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

หลังจากที่รับได้การร้องเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า มีการกระทำผิดจริงและได้ทำการตรวจวัดคุณภาพน้ำในพื้นที่พบว่ามีค่าความเค็มที่สูงเกินมาตรฐาน ก่อนจะแจ้งให้ผู้ประกอบกิจการและผู้รับเหมาดำเนินการแก้ไข และเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำ 4 จุด คือ สระหนองขอน คลองเชื่อมคลองพุทรา คลองบางพุทรา และคลองระบายน้ำทิ้ง(หลังโรงสี) โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 พบว่าสระหนองขอน น้ำมีค่าความเค็มสูง และที่สองเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ค่าความเค็มลดลง แต่ค่าความเค็มก็ยังคงอยู่ในระดับที่ควรเฝ้าระวัง และประสานให้อำเภอพนมสารคามร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่พร้อมทั้งติดตามและกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ดำเนินการเป็นไปตามมติที่ประชุมและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
จากการติดตามความคืบหน้าของกลุ่มประสานงานลุ่มน้ำบางปะกง และได้ขอความร่วมมือจากสำนักงานชลประทานที่ 9 ดำเนินการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในคลองสระหนองขอนให้มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่และเป็นจุดที่มีค่าความเค็มสะสมมากที่สุดในปัจจุบัน ( ผลการตรวจวัด ณ วันที่ 21 มิ.ย.67 พบว่าคลองสระหนองขอนมีค่าความเค็มอยู่ที่ 1.70 กรัม/ลิตร) และขอให้สถานีพัฒนาที่ดินดำเนินการนำดินในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มไปตรวจสอบว่ามีค่าความเค็มคงค้างอยู่ในพื้นที่มากน้อยเพียงใด เพื่อจะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้จากการตรวจสอบก็ยังพบว่า คลองในพื้นที่ติดกับคลองสระหนองขอนมีค่าความเค็มอยู่ที่ 1.19 กรัม/ลิตรด้วย

ด้าน นายนิยม มิตโกสุม อายุ 62 ปี ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน เผยว่า ชาวบ้านที่ทำการเกษตรและทำนาในพื้นที่ ยืนยันว่าพื้นที่ตรงนี้สามารถสร้างผลผลิตได้มาตลอด แต่พอมีบริษัทมาขุดบ่อเอาดินขึ้นมาถมที่ ทำให้น้ำเค็มขึ้นมา ณ เวลานี้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะทางผู้ประกอบการเจ้าของที่มีการสูบน้ำ และปล่อยน้ำไหลลงมาตามคลองชลประทาน ชาวบ้านถึงได้รับผลกระทบ เพราะน้ำนั้นเกิดความเค็มพอสูบน้ำใส่นาก็ทำให้ข้าวตาย ซึ่งขนาดนี้ความเดือดร้อนกระจายไปในวงกว้างเสียหายแล้วประมาณเกือบ 500 กว่าไร่ และมีแนวโน้มว่าจะกระจายเพิ่มขึ้นอีก อยากวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือมาดูแลประชาชนเพราะว่าชาวบ้านในพื้นที่ต้องเสียค่าเช่าไร่นาแล้วผลผลิตก็ไม่ได้ตามที่หวังจึงทำให้ขาดรายได้ ทั้งนี้นายนิยม ยังจะขอวิงวอนให้เจ้าของที่นาที่ตนเองได้เช่าทำอยู่ และรวมไปถึงเจ้าของที่นาที่เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ว่าพอจะลดหย่อนค่าเช่าให้ได้มั้ยในผลผลิตของปีนี้ เพราะว่าชาวนาได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ไม่สามารถผลิตข้าวได้ตามที่ต้องการอีกด้วย

อาษา/ปรีญาภรณ์/ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา