HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

‘มนุษย์ควัน’ ลุ้นผลศึกษา กมธ. บุหรี่ไฟฟ้าคืบหน้า ย้ำยกเลิกแบนแล้วคุมยกแผง

เพจผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ‘มนุษย์ควัน’ ชื่นชม ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า’ กรณีความคืบหน้าล่าสุด หลังคณะอนุฯเสนอ 3 แนวทางต่อกมธ.ชุดใหญ่ ชี้ดีใจที่ได้เห็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ชี้หากปล่อยไว้โดยไม่ดำเนินการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าจะยิ่งทวีความรุนแรง พร้อมอธิบายบุหรี่ทางเลือกมีหลายชนิด หลายกลไก เสนอคุมยกแผง
นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “มนุษย์ควัน” ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.6 หมื่นคน ให้ความเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าล่าสุดของกมธ.พิจารณากฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าว่า “ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นปัญหาที่เรื้อรังและทวีความรุนแรงมานับทศวรรษ ส่วนตัวผมคิดว่าหากไม่มีการดำเนินการที่เป็นชิ้นเป็นอัน ปัญหานี้ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงไปเรื่อยๆ ดังนั้นผมจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความคืบหน้าจากคณะกรรมาธิการวิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับการจัดการเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยให้ชัดเจน และสะท้อนให้เห็นนโยบายที่ก้าวหน้า (Progressive Policy) ของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง”
“ดังที่ประธาน กมธ. จากพรรคเพื่อไทยกล่าวไว้ วันนี้บุหรี่ไฟฟ้าในไทยแม้จะผิดกฎหมายแต่ก็ใช้กันแพร่หลายมาก กมธ. จึงต้องเร่งหามาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ความเป็นจริง และบริบทของประเทศ”

 

สำหรับประเด็นแนวทางและข้อเสนอแนะของคณะอนุฯ นั้น นายสาริษฏ์ได้กล่าวว่า “สังคมต้องเข้าใจก่อนว่าบุหรี่ทางเลือกนั้นมีหลายแบบมาก จำแนกง่ายๆ คือแบบที่ใช้ใบยาสูบ และไม่ใช้ใบยาสูบ และยังมีแยกย่อยไปอีกในเรื่องของกลไกการทำงานของอุปกรณ์ ส่วนประกอบ รวมถึงระดับผลกระทบทางสุขภาพองค์กรระหว่างประเทศเช่น องค์การอนามัยโลก องค์การศุลกากรโลก องค์การมาตรฐานสากล (ISO) ต่างก็กำหนดนิยามไว้แตกต่างกันอย่างชัดเจน และต่างจากบุหรี่ธรรมดา”

“ในมุมมองของผู้บริโภค ผมเชื่อว่าการเลือกแบนทุกอย่างเบ็ดเสร็จนั้นชัดเจนด้วยหลักฐานตลอด 10 ปีที่ผ่านมาแล้วว่าไม่เป็นผล หรือหากรัฐเลือกที่จะใช้กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์แบบใดแบบหนึ่ง และยังคงให้แบนผลิตภัณฑ์ที่เหลือต่อไป ก็น่ากังวลว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ถูกแบนนั้นจะนำมาซึ่งปัญหาลักษณะเดิม ตั้งแต่ตลาดใต้ดิน การลักลอบซื้อขาย การเข้าถึงของเด็กและเยาวชน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมถึงรายได้ภาษีที่รั่วไหล ดังนั้น การนำทุกอย่างขึ้นมาระบุและจำแนกให้ชัดเจน แล้วควบคุมทั้งแผงไปเลย น่าจะตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่หากยังแบนต่อไปประเทศไทยก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม” นายสาริษฏ์กล่าวปิดท้าย