“ปลาหมอคางดำ” พบแห่งแรกใน จ.สมุทรสงคราม กว่า 10 ปีที่แล้ว ก่อนจะระบาดไปหลายจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก กระทั่งล่าสุดชาวบ้านเริ่มพบในพื้นที่ภาคใต้ นครศรีธรรมราช-สุราษฏร์ธานี-สงขลา แนะยกระดับแก้ปัญหาให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ก่อนที่จะลุกลามบานปลาย จนทำลายระบบนิเวศพันธุ์ปลาท้องถิ่นลดน้อยถึงขั้นสูญพันธุ์ได้ วอนให้แก้ปัญหาปลาหมอคางดำเป็น”วาระแห่งชาติ
นายปัญญา โตกทอง อายุ 66 ปี เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง ซึ่งเคยเป็นเกษตกร กล่าวถึงปลาหมอคางดำว่า เริ่มระบาดเข้ามาที่ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงครามประมาณ ปี 2554 ตอนนั้นตนมีอาชีพเลี้ยงกุ้ง แรกๆ ก็ไม่รู้ว่าปลาอะไรปะปนกับกุ้งประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านพูดกันปากต่อปากว่า มีบริษัทแห่งหนึ่ง นำปลาพันธุ์นี้เข้ามาในพื้นที่เพาะเลี้ยงจ.สมุทรสงคราม เนื่องจากช่วงนั้นการเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในการเพาะเลี้ยงตายจำนวนมาก จึงหาวิธีแก้ปัญหา มีผู้แนะนำให้ทดลองนำ”ปลาหมอคางดำ”จากทวีปแอฟริกา มาช่วยพัฒนาสายพันธุ์เป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยนำเข้ามาลอตแรกประมาณ 2,000 ตัว สุดท้ายได้กระจายลงแหล่งน้ำธรรมชาติสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่เลี้ยงกุ้งทั้งแบบพัฒนาคือการซื้อลูกกุ้งมาปล่อยในบ่อเลี้ยง และเลี้ยงแบบธรรมชาติคือการสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ