HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

“หมอเอก” โพสต์ รัวๆ แฉขบวนการปล่อยเฟคนิวส์บุหรี่ไฟฟ้า ชี้ อย่าบิดเบือนข้อมูล หนุนคุมบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ปกป้องเยาวชน

จากข่าวความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าที่พบมากขึ้นตามสื่อทั่วไป นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 1 จังหวัดเชียงราย และอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขเรื่องปัญหาการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในเฟสบุ๊คส่วนตัว “หมอเอก Ekkapob Pianpises” ระบุว่า “ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอจะสรุปความเกี่ยวข้องระหว่างบุหรี่ไฟฟ้ากับวัณโรคปอด มีเพียงข้อมูลจากห้องทดลองว่าบุหรี่ไฟฟ้าก็ทำให้ภูมิต้านทานต่อเชื้อวัณโรคปอดลดลง และ ยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบความเสี่ยงของการเกิดโรควัณโรคระหว่างบุหรี่มวนกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าอันไหนเสี่ยงกว่ากัน ปัญหาของการสร้างการรับรู้ที่ผิด ส่งผลต่อการตัดสินใจด้านสุขภาพของประชาชน” พร้อมย้ำว่า “บุคลากรทางการแพทย์และการนำเสนอข่าวต้องให้ข้อมูลทางการแพทย์ให้ครบถ้วน เพราะการรณรงค์ที่ใช้ข้อมูลผิด จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี”
ในโพสต์ของหมอเอกยังทิ้งท้ายว่า “อดคิดไม่ได้ว่า ที่โหมรณรงค์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากันอยู่ ก็เพราะต้องการปกปิดความล้มเหลวของการควบคุมยาสูบที่ใช้งบประมาณไปรวมๆ หลายพันล้านบาทในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ ?!!!”

โดยก่อนหน้านี้ หมอเอกก็ได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยแชร์ภาพข่าวของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมซึ่งสรุปว่าข้อมูลที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษมากกว่า 7,000 ชนิด เป็นต้นเหตุของโรคปอด EVALI เป็นข้อมูลที่บิดเบือน
“หน่วยงานที่เป็นคลังสมองของการควบคุมยาสูบกลับปล่อยข้อมูลบิดเบือนออกสู่สังคม มีการกำหนดทิศทางงานวิจัยผ่านทางนโยบายของ คณะกรรมการควบคุมยาสูบชาติ ที่ตั้งขึ้นตาม พรบ.ควบคุมยาสูบ โดยงบประมาณที่นำมาใช้ ก็ได้รับมาจาก สสส. ซึ่งควรเป็นองค์กรที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการทำให้ประชาชนมี “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” หรือ “health literacy” แต่กลับสนับสนุนการสร้างข้อมูลบิดเบือน แล้วแบบนี้ประชาชนจะมีสุขภาพดีขึ้นได้อย่างไร????? ที่ผ่านมาการควบคุมยาสูบไทยล้มเหลว เพราะการจัดทำนโยบายและจัดสรรทรัพยากรถูกผูกขาดโดยคนบางกลุ่มและเครือข่ายพวกพ้องของตนเอง”

สอดคล้องกับข่าวก่อนหน้านี้ที่ ปปช. มีมติว่าการใช้งบประมาณของ สสส. ไปให้ทุนการศึกษากับ ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เรียนต่อปริญญาเอกไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน สสส. ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่าแม้จะมีการใช้งบประมาณปีละกว่า 4 พันล้านบาทตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา แต่การรณรงค์ด้านสุขภาพกลับไม่บรรลุผล ไม่สามารถทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้

พร้อมให้ข้อเสนอแนะว่าการควบคุมยาสูบต้องพิจารณาการ “ควบคุมการบริโภคยาสูบ” ทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เน้นแต่บุหรี่ไฟฟ้า แม้จะมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แต่คนสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นก็ไม่เท่ากับสัดส่วนของผู้สูบบุหรี่ที่ลดลง แสดงว่า บุหรี่ไฟฟ้าน่าจะเชื่อมโยงกับการเพิ่มอัตราเลิกบุหรี่สำเร็จในคนที่เคยสูบบุหรี่มวน รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้น (gateway) ที่จะทำให้คนสูบบุหรี่มวนมากขึ้น ขณะที่ข้อมูลสำรวจของกรมควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา (US CDC) พบว่าปัจจัยหลักประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กมัธยมที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า คือ ความเครียดและต้องการความสุขจากสารนิโคติน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือประเมินกลุ่มเสี่ยงเรื่องความเครียด และส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความสุขในโรงเรียน เพราะเด็กนักเรียนใช้เวลาในโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน อีกส่วนหนึ่งประมาณ 20-30% เป็นเรื่องของสังคม กลุ่มเพื่อน พฤติกรรมของวัยรุ่น ซึ่งเราควรใช้งบประมาณมาสนับสนุนความฝันให้เด็กๆ ให้เขาได้ทำกิจกรรมที่สนใจอย่างจริงจังนอกจากการเรียน ซึ่งต้องส่งเสริมต่อเนื่องไม่ใช่ทำกิจกรรมแบบทำแล้วทิ้งเหมือนที่ผ่านๆ มา”