เกลือจืด เป็นผลึกสารแคลเซียมซัลเฟตที่ทับถมอยู่ในนาเกลือ หลังจากเกษตรกรเก็บผลผลิตเกลือออกไปหมดแล้ว เมื่อก่อนชาวนาเกลือยังไม่เห็นประโยชน์ของเกลือจืดจึงมักขุดทิ้ง ปัจจุบันได้มีการนำเกลือจืดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แป้งร่ำเกลือจืดโดยเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง อาทิ แป้งนวล แป้งผง แป้งขมิ้น แป้งไพร ฯลฯ สามารถช่วยสร้างรายได้ให้ชาวนาเกลือเพิ่มสูงขึ้น จ.สมุทรสงคราม เป็นแหล่งผลิตเกลือสมุทรเพื่อการบริโภคจากน้ำทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นอาชีพที่สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นนับร้อยปี เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นดินเหนียวและเค็มติดชายฝั่งทะเล จึงสะดวกในการขุดรางนำน้ำทะเลเข้าสู่พื้นที่นาเกลือโดยมีแหล่งผลิตใน 2 ตำบลคือ ต.บางแก้ว และ ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองแรวมพื้นที่ประมาณ 5,822 ไร่ และต้องอาศัยกระแสลมกับแสงแดดจากดวงอาทิตย์ระเหยน้ำเกลือให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้นและจับตัวกันเป็นก้อนเกลือ การทำนาเกลือจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน–พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง หลังจากเกษตรกรเก็บผลผลิตเกลือ หรือที่ชาวนาเกลือเรียกว่า “รื้อเกลือ” หมดแล้วจะเหลือ “เกลือจืด” เกาะตัวเป็นแผ่นแข็งอยู่ติดกับหน้าดินในนาเกลือที่เรียกว่า “อันเชื้อ” ทุกๆ 3 ปี เกษตรกรจะต้องขูดเอาเกลือจืดออก และปรับหน้าดินให้เรียบเสียก่อน จึงจะปล่อยน้ำทะเลเข้านา และในอดีตเกษตรกรมักจะมองเกลือจืดเป็นเพียงเศษวัสดุเหลือใช้ แต่ขณะนี้ได้มีการนำเกลือจืดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ “แป้งเกลือจืด” เพื่อเพิ่มมูลค่าจนสามารถสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่หลายราย