สมุทรสงครามรับซื้อปลาหมอคางดำคึกคักขณะที่ราคา15บาททำให้ต้นทุนเหยื่อเลี้ยงปลากระพงแพงขึ้น

จับเท่าไหร่ก็ไม่หมดเลี้ยงกุ้งได้ปลาหมอคางดำ รับซื้อปลาหมอคางดำคึกคัก จี้รัฐแก้ปัญหาระยะยาว ขณะที่ราคา 15 บาททำให้ต้นทุนเหยื่อเลี้ยงปลากระพงแพงขึ้น ขอให้ดูแลราคาสัตว์น้ำให้ดีกว่านี้
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2567 นางเนตรชนก ศรีนวล อายุ 40 ปี เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งธรรมชาติ กว่า 400 ไร่ ในพื้นที่ ม.2 ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งผันตัวเองมาเป็นจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ 1 ใน 3 ของจุดรับซื้อทั้งจังหวัดสมุทรสงคราม ได้นำแรงงานไปรับซื้อปลาหมอคางดำ ถึงปากบ่อเกษตรกรที่จะล้างบ่อเตรียมฤดูการเลี้ยงสัตว์น้ำรอบใหม่ ซึ่งวันนี้ได้ปลาหมอคางดำมากถึง 3-4 ตัน นางเนตรชนก จึงรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล และนำไปส่งยังแหล่งผลิตปุ๋ยชีวภาพที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพให้องค์การยางนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

นางเนตรชนก กล่าวว่า เดิม ตนเช่าพื้นที่กว่า 400 ไร่ เลี้ยงกุ้งหอยปูปลาด้วยวิธีธรรมชาติ คือสูบน้ำจากธรรมชาติเอาลูกกุ้ง หอย ปู ปลาเข้ามาเลี้ยง ใช้เวลา 6 เดือน ลงทุนแต่ละรอบกว่า 20,000 บาท และทำอาชีพเสริมเป็นรับซื้อปลาหมอเทศ มาเป็นปลาเหยื่อ แต่ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปลาหมอคางดำระบาดหนัก จาก 6 เดือน เคยได้รับเงินเป็นแสน เหลือแค่รอบละ 20,000 บาท นอกจากนี้ยังมีต้นทุนจับปลาหมอคางดำเพิ่มขึ้นมา ทั้งค่าแรงงาน ค่ากากชา ยังไม่รวมค่าแรงงานจับปลา ที่สำคัญต่อให้จับปลาหมอคางดำขึ้นจากบ่อก็ยังมีไข่หลงเหลืออยู่ พอเปิดน้ำเข้าบ่อรอบใหม่ ลูกปลาก็เกิดใหม่ แถมยังมีที่เล็ดลอดจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่สูบเข้าบ่อติดมาด้วย เวลาตนวิดบ่อจับกุ้งทีก็จะได้ปลาหมอคางดำครั้งละ 10- 20 ตัน ตนจึงหาทางจำหน่ายปลาจนรู้จักหลายแหล่ง จากนั้นบ่อข้างๆซึ่ง ก็มีปลาหมอคางดำเยอะเหมือนกัน จึงฝากไปขายด้วย ตนจึงรับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกรไปส่งเป็นปลาป่นเลี้ยงปลากระพงกับปู บางที่รับตัวใหญ่เอาไปทำปลาเค็ม ลูกชิ้นปลา ตนก็รับซื้อมาตั้งแต่มีปลาหมอคางดำแล้ว แต่เมื่อก่อนรับซื้อราคากิโลกรัมละ4 – 5 บาท แต่พอรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนจึงรับซื้อในราคา 15 บาท ซึ่งก็มีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีก็คือเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง ได้ปลาหมอคางดำก็ได้มาเสริมบ้างเล็กน้อย แต่เมื่อราคาปลาเหยื่อราคาแพงขึ้น ตนใช้ปลาหมอคางดำเป็นปลาเหยื่อเลี้ยงปลากระพง สัปดาห์ละ 1.2 ตัน ก็จะทำให้ต้นทุนอาหารปลาราคาสูงขึ้น ขณะที่ราคาปลากระพงก็ลดลงถูกปลาต่างประเทศเข้ามาตีตลาด

อย่างไรก็ตามปัจจุบันรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนรับซื้อกิโลกรัมละ 15 บาททำให้มีเกษตรกรนำปลาหมอคางดำมาขายเยอะขึ้น จากเดินวันละ 1-2 ตัน เพิ่มเป็น 7-8 ตัน สูงสุดวันละ 13 ตัน แต่ให้เวลาแค่ 1 เดือน ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ที่ปลาหมดคางดำจะหมดไปจากประเทศไทย ต่อให้ไล่จับกันจนน้อยลง พอปิดการรับซื้อปลาหมอคางดำก็ขยายพันธุ์อีก เพราะเป็นสัตว์น้ำที่ทยอึด และขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ไม่นานก็ระบาดหนักกว่าเก่า อยากให้เปิดโรงงานรับซื้อระยะยาวไปเลยจนกว่าปลานี้มันจะหมดไป อย่าซื้อแค่แป๊บเดียวแล้วเลิกเหมือนที่ผ่านมา อย่าแก้ปัญหาแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอด เพราะการรับซื้อกิโลกรัมละ 15 บาทอย่างต่อเนื่อง ก็พอจะทำให้ผู้เพาะเลี้ยงเอาเงินไปทำทุนหมุนเวียนได้ นอกจากนี้ก็ขอให้ดูแลราคาอาหารทะเลทั้งกุ้งปูปลา หรือปลากระพง มีราคาสูงขึ้น เพราะอย่างน้อยที่ยังเหลือก็ยังได้ราคาดี เกษตรกรก็ยังพออยู่ได้