HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

ม.ราชภัฏกาญจนบุรี โดยสถาบันศรัทธาภัฏ จัดกิจกรรมมอบพันธุ์กล้วยไม้และพุดป่าแก่ศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีและโรงเรียนวในจ.กาญจนบุรี

มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี โดยสถาบันศรัทธาภัฏ จัดกิจกรรมมอบพันธุ์กล้วยไม้และพุดป่า แก่ศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี และโรงเรียนวัดห้วยสะพาน จ.กาญจนบุรี สู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ โรงเรียนวัดห้วยสะพาน ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ผศ.ดร.พจนีย์ สุขชาวนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มอบหมายให้ผศ.จรายุทธ ประทีปวรกาญจน์ รองอธิการบดี พร้อมด้วยผศ.ดร.สุทัศน์ กำมณี ผู้ช่วยอธิการบดี ผศ.ศิริรัตน์ เช็งเส็ง หัวหน้าสถาบันศรัทธาภัฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี บุคลากร และนักศึกษาจิตอาสา จัดกิจกรรมมอบพันธุ์กล้วยไม้และพุดป่า แก่ศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี ซึ่งเป็นพื้นที่มีป่าเขาอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงระหว่างป่ากับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพราะผลผลิตจากป่า ทั้งไม้และพืชสมุนไพรสามารถนำมาแปรรูป เป็นสินค้าส่งขายเป็นรายได้เสริมและพื้นที่เกษตรโรงเรียนวัดห้วยสะพาน เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้คืนสู่ธรรมชาติ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)

โดยได้รับเกียรติจากนายบุญเลียบ ด้วงเดช ส.อบจ.กาญจนบุรี อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี นายสวง ชำนาญกำหนด ประธานป่าชุมชนบ้านห้วยสะพาน รับมอบพันธุ์กล้วยไม้และร่วมปลูกต้นไม้ อาจารย์จักรกฤษณ์ โพธิ์แพงพุ่ม อาจารย์สุพรรณี โพธิ์แพงพุ่ม วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ถ่ายทอดองค์ความรู้ในกิจกรรมดังกล่าว โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ และทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดกิจกรรมเพื่อให้มีการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติที่นำผลประโยชน์มาถึงประชาชนชาวไทย ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืช ให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ

ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เมื่อครั้งปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่ทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์ต้นยางนา และทรงให้รวบรวมพืชพันธุ์ไม้ของภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศปลูกไว้ในสวนจิตรลดา โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จึงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวพระราชดำริ และสืบสานพระราชปณิธานแห่งพระองค์ โดยปรากฏในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วยกิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืชในพื้นที่ป่าธรรมชาติ การสำรวจรวบรวมพันธุกรรมพืชที่มีแนวโน้มว่าใกล้สูญพันธุ์ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การนำพันธุ์พืชที่รวบรวมเพาะปลูก และรักษาในพื้นที่ที่เหมาะสมทางกายภาพ และปลอดภัยจากการรุกราน การอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช โครงการศึกษาประเมินพันธุกรรมพืชในด้านต่างๆ ให้ทราบองค์ประกอบ คุณสมบัติ และการใช้ประโยชน์พืชพรรณ เป็นกิจกรรมการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ พันธุกรรมพืชแก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้แก่ เยาวชน บุคคลทั่วไป ให้มีความเข้าใจ ตระหนักในความสำคัญเกิดความปิติ และสำนึกที่จะร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์ พืชพรรณของไทยให้คงอยู่เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าประจำชาติสืบไป