HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

จังหวัดบุรีรัมย์ จัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ สนามช้าง อารีนา

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2567 จังหวัดบุรีรัมย์จัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมฯ ณ สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวต้อนรับ

การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ประกอบด้วย 3 การประชุมหลัก ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน (ASED) ครั้งที่ 13 การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม (APT EMM) ครั้งที่ 7 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา (EAS EMM) ครั้งที่ 7 โดยการประชุมทั้งหมดจะจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2567 ณ สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ในวันที่ 23-24 สิงหาคม 2567 ได้มีการจัดประชุมระดับปลัด กระทรวงเพื่อพิจารณาข้อมูลและรายละเอียดที่สำคัญสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี

 

 

 

 

 

สำหรับการประชุมในช่วงสองวันนี้เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีด้านการศึกษาจากอาเซียน อาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) และอาเซียนบวกแปด (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวชีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย) ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาการศึกษา เพื่อรับมือกับแนวโน้มใหญ่ระดับโลกที่กำลังหล่อหลอมอนาคตการศึกษาในภูมิภาคอาเซียนและประเทศคู่เจรจา

โดยเฉพาะการเตรียมทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมสำหรับโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการพัฒนาทักษะใหม่และการยกระดับทักษะเพื่อให้แรงงานมีความสามารถในการปรับตัว ยืดหยุ่น และแข่งขันได้ ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นการปรับตัวของพลเมืองอาเซียนต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามและความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างทันสมัย และมีประสิทธิภาพ

 

 

 

ในช่วงบ่ายของวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้มีโอกาสศึกษาดูงานที่สถานศึกษาในพื้นที่ เช่น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนมีชัยพัฒนา โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning การเสริมทักษะชีวิต การพัฒนานวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยี AI ในการเรียนการสอน

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ซึ่งช่วยเสริมสร้างทักษะดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน

 

 

 

 

 

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในการส่งเสริมบทบาทและภาพลักษณ์ของประเทศไทยกับอาเซียน และประเทศคู่เจรจา เพื่อผลักดันประเทศในภูมิภาคสู่การบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและครอบคลุม รวมถึงการสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ อย่างยั่งยืนทั้งปัจจุบันและอนาคต.

 

 

 

 

 

Cr. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์
เรียบเรียง: สมพุด เกตขจร ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดบุรีรัมย์