HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

นักท่องเที่ยวทึ่ง ต้นสาละในพุทธประวัติอายุกว่า 30 ปี ผลดกเต็มต้น

วันที่ 4 ก.ย. 2567 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายในวัดแหลมพ้อเกาะยอ มาเจอต้นสาละ ที่อยู่บริเวณติดกับรถเข็นไอศครีมกะทิสด ก็เดินมาดู เนื่องจากไม่เคยเห็น และไม่ทราบว่าเป็นต้นอะไรด้วย เมื่อทราบว่าเป็นต้นสาละ ที่เกี่ยวพัน กับพุทธศาสนา ต่างให้ความสนใจ เนื่องจากในวัดแหลมพ้อแห่งนี้ มีต้นสาละอายุกว่า 30 ปี ผลดกเต็มต้น อยู่เพียงต้นเดียว และน่าจะนำมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่ ต้นสาละนี้ จะปลูกอยู่ภายในบริเวณวัด เฉพาะในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา มีปลูกอยู่เพียง 2 วัดเท่านั้น คือ วัดแหลมพ้อที่เกาะยอ และวัดทรายขาว ที่ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา แต่สำหรับที่วัดแหลมพ้อนี้มีเพียงต้นเดียว และมีผลดกมาก เป็นที่สะดุดตา ให้กับผู้ที่มาพบเห็น และอยากจะทราบว่า นี่คือต้นไม้อะไร เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่แตกต่างไปจาก ต้นไม้อื่นๆ ที่อยู่ภายในบริเวณวัด

สาละ เป็นชื่อต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติทั้งตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน คือ พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นสาละ ก่อนตรัสรู้ในเวลากลางวันประทับใต้ต้นสาละและเวลาเย็นย้ายไปประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จนตรัสรู้ในเวลารุ่งเช้า และปรินิพพานระหว่างต้นสาละคู่ ต้นไม้ที่เรียกว่า สาละ ได้แก่ สาละอินเดียและสาละลังกา แต่เป็นไม้คนละวงศ์กัน ต้นสาละอินเดีย เรียกสาละใหญ่ หรือมหาสาละ ก็ได้ มีถิ่นกำเนิดในประเทศเนปาล อินเดีย และบังกลาเทศ พบมากในเขตเชิงเขาหิมาลัยตอนใต้ เป็นพืชในตระกูลยาง พวกเดียวกับพะยอม เต็ง รัง เป็นไม้ใหญ่ไม่ผลัดใบ ลำต้นตรง เปลือกสีน้ำตาลอมดำแตกเป็นร่องเป็นสะเก็ดทั่วไป ใบดกหนา ปลายกิ่งห้อยลู่ลง ออกดอกช่วงต้นฤดูร้อน มีสีเหลืองอ่อนรวมกันเป็นช่อสั้นตามปลายกิ่งและง่ามใบ ผลแข็งมีปีก เป็นไม้เนื้อแข็งที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย

นายสุธรรม ลาภวงศ์ เล่าว่า สำหรับต้นสาละต้นนี้ มีอายุกว่า 30 ปี ที่ออกลูกออกมาเยอะเนื่องจาก อายุมันแก่แล้ว ตอนนี้ประมาณ 30 กว่าปี เวลาชาวต่างชาติมา ซึ่งเป็นชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่นับถือศาสนาพุทธและฮินดู เขาจะเอาดอกสาละที่เป็นสีชมพูนำไปบูชา เขาจะเก็บดอกไปบูชาตามพุทธประวัติ เพราะสาละเป็นต้นไม้พุทธประวัติตำนานเยอะ ต้นไม้นี้ส่วนใหญ่จะปลูกตามวัดตามโรงเรียน เพื่อให้ได้ศึกษาพุทธประวัติ ร่มรื่นดี ตามรอยพุทธประวัติ

จรัส  ชูศรี /จ.สงขลา