HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

”ธนาคารที่ดิน-พอช.“ หารือเพิ่มขีดความสามารถ กระจายโอกาสการถือครองที่ดิน

ธนาคารที่ดิน ระดมความคิดเห็นกับเครือข่ายสวัสดิการชุมชน เพิ่มขีดความสามารถ การสร้างภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อให้กลุ่มเกษตรกร และผู้ยากจน มีโอกาสการถือครองที่ดิน อย่างยั่งยืน

วันที่ 10 กันยายน 2567 นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ประชุมร่วมกับ นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. นายวิริยะ แต้มแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ พอช. ณ ห้องประชุม 301 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ทั่วประเทศ ในโครงการศึกษาการเพิ่มขีดความสามารถในการระดมทุน เพื่อการกระจายโอกาสการถือครองที่ดิน ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งแรก ที่จังหวัดเชียงราย นายกุลพัชร ภูมิใจอวด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของธนาคารที่ดิน 8 ปี ที่ผ่านมา ได้แก้ปัญหาด้านที่ดินให้แก่เกษตรกร ผู้ยากจน ใน 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ กระจายการถือครองที่ดินอย่างยั่งยืน และการป้องกันการสูญเสียสิทธิ์ในที่ดิน แต่ยังพบว่าเกษตรกร ผู้ยากจน จำนวน 19 ล้านคนทั่วประเทศ ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

ดังนั้น ธนาคารที่ดิน จึงขอนำเสนอ พอช. ให้ประสานเครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง สามารถรวมกลุ่ม 7 คน แล้วไปขอจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน กับเกษตรอำเภอ จากนั้นให้มายื่นเรื่องกับ ธนาคารที่ดิน เราจะใช้เงินที่รัฐจัดสรรจากภาษีประชาชน นำไปซื้อที่ดิน (โฉนดครุฑแดง) ซึ่งที่ดินนั้นเป็นพื้นที่ ที่กลุ่มเกษตรกรตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง

“เรามีกระบวนการจัดซื้อที่ดิน ผ่านคณะกรรมการ และบริษัทประเมินราคา เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม นำมาให้เกษตรกร ผู้ยากจน เช่าชื่อในระยะเวลา 30 ปี กระบวนการนี้ธนาคารที่ดินจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ขอเพียงรวมกลุ่มกันแล้วเดินมาหา ธนาคารที่ดิน”นายกุลพัชร กล่าว ขณะที่ นายวิริยะ แต้มแก้ว กล่าวว่า การดำเนินงานของโครงการศึกษาการเพิ่มขีดความสามารถในการระดมทุน เพื่อการกระจายโอกาสการถือครองที่ดิน มีการแต่งตั้งงคณะทำงานฯ และมีการประชุมคณะทำงานฯ เพื่อหารือแนวทางเพิ่มขีดความสามารถในการระดมทุนและการระดมทุนของ ธนาคารที่ดิน ซึ่งหลังจากหารือ พบว่ามี 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 การกู้ยืมเงิน รูปแบบที่ 2 การร่วมลงทุน และรูปแบบที่ 3 บันทึกความตกลง ด้านนายวิชัย นะสุวรรณโน กล่าวว่า พอช. จะรับเอา ทั้ง 3 ข้อเสนอของ ธนาคารที่ดิน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเช่นเดียวกันกับ พอช. มาพิจารณาหาแนวทาง เพื่อนำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันต่อไป

ดร.มณเฑียร สอดเนื่อง อนุกรรมการสวัสดิการชุมชนระดับชาติ กล่าวว่า ยังมีรายละเอียด ที่ต้องศึกษาข้อมูลกันอีก เพราะจะมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้ง 2 หน่วยงาน อาจจะต้องมีคณะทำงานชุดเล็ก มาทำรายละเอียดร่วมกัน แล้วค่อยพัฒนาไปสู่ขั้นตอนต่อไป และอาจจะเลือกพื้นที่นำร่องในจังหวัดที่มีความพร้อม

“ผมอยากให้ความเห็นตรงนี้นะครับ ที่เราจะสามารถทำกันได้โดยทันทีคือบันทึกความร่วมมือ จับมือร่วมกันและพัฒนาไปสู่สิ่งที่มีความเป็นไปได้ และไม่มีปัญหาทั้งเรื่องของกฎหมาย กับการพัฒนา ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เป็นวิธีการทำไปเรียนรู้ไป”ดร.มณเฑียร กล่าวและว่า สวัสดิการเรื่องที่ดินทำกิน เป็นสวัสดิการมิติหนึ่งของกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่สามารถเป็นเครื่องมือในการยกระดับกองทุนให้มากกว่าสวัสดิการพื้นฐาน เกิด แก่ เจ็บ ตาย สู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ชุมชน สังคมและประเทศ