วันที่ 17 ก.ย. 2567 นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ลงพื้นที่สำรวจประตูระบายน้ำหนองตรุด สั่งการทุกหน่วยงานอำนวยความสะดวกและดูแลประชาชนเต็มที่ พร้อมฝากประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำและพยากรณ์อากาศ โดยมี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง ชลประทานตรัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง โดยผู้ว่าราชการการจังหวัดได้มีข้อสั่งการกรณีเกิดอุทกภัยโดยเร่งเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ยังติดค้างอยู่ในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย จัดศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับผู้ประสบภัยให้เพียงพอดูแลน้ำด้านการดำรงชีพเบื้องต้นให้เพียงพอ เหมาะสมกับความต้องการ พิจารณาถึงความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะผู้ประสบภัย กลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก และผู้ป่วย จัดทีมแพทย์/บุคลากรการแพทย์ เข้าดูแลสุขภาพร่างกาย และจิตใจผู้ประสบภัย เฝ้าระวังโรคที่เกิดในภาวะอุกกภัย และดูแลด้านสุขาภิบาล ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัยที่อพยพออกจากบ้านเรือน เพื่อป้องกันการลักขโมย และไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย เร่งพื้นฟูระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า และระบบน้ำประปาใบพื้นที่ประสบภัยให้กลับมาให้บริการประชาชนได้ตามปกติโดยเร็ว พื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัย เข้าช่วยเหลือประชาชนในการทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัย เปิดเส้นทางคมนาคมให้ประชาขนสามารถสัญจรได้ตามปกติโดยเร็วประสานสถาบันการศึกษาให้นำนักศึกษาอาชีวศึกษา สนับสนุนการซ่อมแซมระบบไฟฟ้า พาหนะ บ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน ให้ความช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และจัดทำแผนการฟื้นฟูทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้ชัดเจนต่อไปทั้งนี้จังหวัดตรัง มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 10 อำเภอ 40 ตำบล 5 เทศบาล 328 หมู่บ้าน 8 ชุมชน (เสี่ยงมาก 35 หมู่บ้าน 1 ชุมชน, เสี่ยงปานกลาง 76 หมู่บ้าน 3 ชุมชน, เสี่ยงน้อย 217 หมู่บ้าน 4 ชุมชน)