คอหวยไม่พลาด แห่ส่องเลขเด็ด ประเพณีแซนโฎนตา บุญเดือนสิบของชาวไทยเชื้อสายเขมร คึกคัก

เมื่อช่วงเย็น วันที่ 26 ก.ย.67 ที่หน้าลานอนุเสาวรีย์พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ นายสันติ โอฆะพนม  นายอำเภอสังขะ เป็นประธานในการประกอบพิธีแซนโฏนตาบูชาบรรพบุรุษ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล และประชาชน ในพื้นที่ อ.สังขะ ร่วมกันนำเครื่องเว่นไหว้ อาหาร คาว หวาน น้ำดื่ม น้ำเปล่า น้ำหวาน สุรา ไก่ย่าง ปลาย่าง ผลไม้ ข้าวต้มมัด จัดวางไว้ในกะเฌอหรือขันโตก เพื่อประกอปพิธีเซ่นไหว้อนุสาวรีย์พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ (เจ้าเมืองสังขะคนแรก) เซ่นไหว้ศาลปะกำช้าง รูปปั้นช้าง และศาลหลักเมืองสังขะ โดยมีหมอปะกำช้างและหมอพราหมณ์ เป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมแซนโฏนตา พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดพิธีรำบวงสรวงบูชาบรรพบุรุษจากตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 12 แห่ง จำนวนกว่า 300 คน

 

 

 

 

 

 

สำหรับประเพณีวันแซนโฏนตา เป็นวัฒนธรรมชาวสุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง ในดินแดนอีอีสานใต้ ที่มีเขตแดนติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา ได้รับวัฒนธรรม ประเพณีเชื้อสายเขมรตั้งแต่โบราณ โดย ประเพณีแซนโฏนตา (แซน-โดน-ตา เป็นภาษาเขมร แปลว่า เซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษ) เป็นประเพณีรวมญาติ วันครอบครัวและเครือญาติจะได้กลับมาพบหน้ากัน เพื่อทำบุญให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เหมือนกับ “วันสารทไทย”, “วันสารทจีน” และในวัฒนธรรมของชาวเขมรก็มีประเพณี “วันสารทเขมร” หรือที่เรียกกันว่า “ประเพณีแซนโฎนตา” นั่นเอง ส่วนตามบ้านเรือนของแต่ละครอบครัว ก็สามารถเซ่นไหว้บรรพบุรุษของตนเอง รวมทั้งญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปได้ทุกวันในช่วงนี้แล้วแต่ละครอบครัวจะสะดวกวันไหน

 

 

 

 

 

 

 

โดยไงแซนโฎนตา (วันสารทใหญ่) คือ แรม 14 ค่ำ เดือนสิบ(10) ปี 2567 ตรงกับ วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2567 นี้ และเป็นวันที่ญาติพี่น้อง ภายในครอบครัว จะต้องไปร่วมกันทำบุญที่วัด และกลับมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกครั้งที่บ้าน เชื่อว่ายมบาลจะปล่อยวิญญาณออกมาในวันเวลาแตกต่างกันตามแต่ผลบุญที่ทำไว้ ใครถูกปล่อยออกมาก่อนก็จะได้รับอานิสงส์มากกว่าวิญญาณที่ถูกปล่อยทีหลัง ดั้งนั้นในวันแรม 14 ค่ำ จึงเป็นการอ้อนวอนให้ยมบาลปล่อยวิญญาณออกมาให้หมดเพื่อให้มารับอานิสงส์ผลบุญด้วยตนเอง ที่ครอบครัวญาติพี่น้องได้ทำบุญและประกอบพิธีเซ่นไหว้ให้วิญญาณ จะได้ทุกข์ทรมานน้อยลง และยังเชื่ออีกว่าหากไม่มีญาติพี่น้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ วิญญาณเหล่านั้นจะอดอยากทุกข์ทรมาน และอาจโกรธแค้นสาปแช่งผู้คนต่างๆ นานา การเซ่นไหว้ จึงเป็นการขอความคุ้มครองและอ้อนวอนให้บรรพบุรุษปกปักรักษาตนเองให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วยตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายเขมร.

 

 

 

 

 

ภาพ/ข่าว นพรัตน์  กิ่งแก้ว ผู้สื่อข่าว จ.สุรินทร์