HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

รมช.กษ. ลงพื้นที่จังหวัดตราด เปิดเวทีสัมมนา “ทิศทางอนาคตทุเรียนไทยทำอย่างไรให้ยั่งยืน” ด้านอธิบดีกรมวิชาการเกษตรยันทุเรียนไทยแคดเมียนไม่เกินมาตรฐานโลก

จ.ตราด/วันที่ 28 ก.ย. 67 ที่ห้องประชุมสงฆ์ วัดหนองบัว ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดตราดเป็นประธานเปิดเวทีสัมมนา “ทิศทางอนาคตทุเรียนไทยทำอย่างไรให้ยั่งยืน” ซึ่งคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ นำโดยนายศักดินัย นุ่มหนู ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดขึ้น โดยมีนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกรจากพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด จำนวนมากเข้าร่วมเวทีสัมมนาครั้งนี้

สำหรับการจัดสัมมนา เรื่อง “ทิศทางอนาคตทุเรียนไทยทำอย่างไรให้ยั่งยืน” ในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก และบูรณาการองค์ความรู้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อถ่ายทอดไปสู่การกำหนดทิศทางอนาคตทุเรียนไทย และให้คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะองค์กรนิติบัญญัติได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของเกษตรกรในพื้นที่ โดยสามารถนำข้อคิดเห็นมากำหนดเป็นแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาผลไม้ทุเรียนที่รอบด้านเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรตามกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป อย่างไรก็ตามการจัดเวทีสัมมนาในครั้งนี้เกษตรกรหลายคนได้ร่วมนำเสนอความคิดเห็นต่อหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมเวทีนี้ให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอแก่เกษตรกร การแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อน รวมทั้งการสวมสิทธิ์ใบ GAP ของทุเรียน ปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีในทุเรียน รวมถึงปัญหาราคาปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชที่มีราคาแพง

 

 

ด้าน นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลไม้ทุเรียนของไทย สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยกว่า 87,000 – 98,000 ล้านบาท ดังนั้นการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับทุเรียน รวมทั้ง การส่งเสริมความรู้เกษตรกร การควบคุมคุณภาพทุเรียน มาตรฐานลัง ตลอดจนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ทั้งระบบ เพื่อความยั่งยืนจึงเป็นประเด็นสำคัญต่อการสร้างรายได้ และยกระดับมูลค่าสินค้าทุเรียนให้สูงขึ้น พร้อมรองรับการแข่งขันในเวทีตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

 

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงกรณีสารแคดเมียมในทุเรียนในการเข้าร่วมเวทีสัมมนา “ทิศทางอนาคตทุเรียนไทยทำอย่างไรให้ยั่งยืน” ที่จังหวัดตราด ว่า ทางกรมกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างข้อมูลเข้าตรวจทั้ง ดิน น้ำ ในแหล่งที่อ้างว่าเป็นแหล่งที่ตรวจพบสารแคดเมียมในทุเรียน ทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมไปถึงการตรวจหาสารแคดเมียมในเนื้อทุเรียน 2,000 ตัวอย่าง หรือแม้แต่ดินในพื้นที่เสี่ยง ที่เป็นเหมืองแร่เก่า ที่ดำเนินการเก็บตัวอย่างร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน ผลปรากฏว่า สารแคดเมียมในดิน น้ำ ของประเทศไทยไม่เกินค่ามาตรฐาน CODEX (มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ) ตามที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดไว้ที่ต้องไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรขอยืนยันว่า ค่าแคดเมียมในดิน น้ำ และเนื้อทุเรียน ของไทยไม่เกินมาตรฐาน กระบวนการต่อไปกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินเก็บตัวอย่างสารเพิ่มเติมที่อยู่ในล้ง เช่น สารที่ป้ายขั้วทุเรียน ต่อไป

 

 

อย่างไรก็ตามภายหลังการจัดเวทีสัมมนา “ทิศทางอนาคตทุเรียนไทยทำอย่างไรให้ยั่งยืน” ในครั้งนี้แล้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะยังได้ร่วมกันมอบโฉนดเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ให้กับเกษตรกรจำนวน 47 ราย รวมทั้งมอบมอบปัจจัยการผลิตปรับปรุงบำรุงดิน เมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว รวมทั้งมอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมเวทีสัมมนาในครั้งนี้อีกด้วย