รองพ่อเมืองสงขลาลั่นกลองเปิดงานเทศกาลกินเจ

วันที่ 3 ต.ค. 2567  ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณลานหน้าท่าเทียบเรือประมงเก่า (ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา)  อ.เมือง  จ.สงขลา นายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลกินเจ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2567 และลั่นกลองเปิดงานอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการแสดงการเชิดสิงโต เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมี นายวันชัย ปริญญาศิรินายกเทศมนตรีนครสงขลา พร้อมด้วย สมาชิกสภาเทศบาลนครสงขลา คณะกรรมการศาลพระแม่กวนอิมสวนหมาก ตลอดจนประชาชนเข้าร่วม

สำหรับงานเทศกาลถือศีลกินเจ ปีที่ 14 ศาลพระแม่กวนอิมสวนหมาก ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เทศบาลนครสงขลา 5 สมาคมจีน พระตำหนักกวนซีอิมผ่อสักเคหะสถานครูไทย จัดงานเทศกาลถือศีลกินเจ ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 2 – 11 ตุลาคม 2567 เพื่อส่งเสริมประเพณีถือศีลกินเจในพื้นที่เมืองสงขลา อนุรักษ์และสืบสาน ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีน อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองสงขลา ได้กำหนดสถานที่ประกอบพิธีกรรม ไว้ 2 แห่ง คือ บริเวณศาลพระแม่กวนอิมสวนหมากและปะรำพิธีหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมหลัก ดังนี้ พิธีขึ้นเสาเทวดาและรับเสด็จองค์กิ๋วอ้วงฮุกโจ้ว วันที่ 5 และ 8 ตุลาคม พิธีข้ามสะพานสะเดาะเคราะห์ วันที่ 6 ตุลาคม พิธีขอขมาเจ้าสมุทร ลอยกระทงโปรดวิญญาณ ที่ท่าเรือหลังปะรำพิธี วันที่ 9 ตุลาคม พิธีแห่รอบเมืองและพิธีลุยไฟ วันที่ 10 ตุลาคม พิธีเทกระจาดและแจกทาน วันที่ 11 ตุลาคม พิธีส่งเสด็จองค์กิ๋วอ้วงฮุกโจ้ว หลังจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ทำพิธีเปิดงานเทศกาลถือศีลกินเจ ครั้งที่ 14 เรียบร้อยแล้ว ได้ทำการผัดหมี่มงคล เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมงานชิมฟรีคนละกล่อง โดยมีผู้ที่ขึ้นไปให้กำลังใจในการผัดหมี่ของรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มี นายกเทศมนตรีนครสงขลา และผู้บริหารเทศบาลนครสงขลา รวมทั้งคุณศักดิ์- คุณแอนลา ตั้งคุปตานนท์ ประธานศาลพระแม่กวนอิมสวนหมากด้วย

 

 

สำหรับเทศกาลกินเจ หรือประเพณีถือศีลกินผัก เป็นประเพณีแบบลัทธิเต๋า กำหนดเอาวันจันทรคติ คือ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี คำว่า เจ ในภาษาจีนทางพุทธศาสนานิกายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธนิกายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้นความหมายก็คือคนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ ส่วนป้ายคำ ว่า “เจ” ทั้งภาษาไทยและจีน ที่มักเห็นในประดับตามห้างร้านต่างๆ ในช่วงเทศกาลกินเจ เป็นการสื่อว่า “ไม่มีของคาว” (ไม่มีเนื้อสัตว์) โดยตัวอักษรสีแดง เป็น ตัวแทนของความเป็นสิริมงคล ส่วนพื้นหลังสีเหลือง เป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนานั่นเอง

จรัส ชูศรี  /จ.สงขลา