ชาวบ้านทนมากว่า 10 ปีหลังโรงงานผสมแอสฟัลล์ปล่อยกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง เด็กคนแก่ล้มป่วยระนาว

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอัครัช จันทร์ทับ อายุ 49 ปี พร้อมด้วยนายประดิษฐ์ เนียมสุวรรณ อายุ 53 ปี และตัวแทนชาวบ้านหลายหมู่บ้านในตำบลสะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร ประมาณ 50 คน รวมตัวกันถือป้ายเพื่อแสดงถึงความเดือดร้อนบริเวณหน้าโรงงานผสมแอสฟัลล์ตั้งอยู่ริมถนนสายสะพลี-ทุ่งวัวแล่น ในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลสะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวน 3 โรงที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันสร้างปัญหาแก่ชุมชน พบว่ากั้นด้วยรั้วสังกะสีเขียวสูงประมาณ 2 เมตร และต่อความสูงด้วยผ้าแสลนสีเขียวขึ้นไปอีกรวมความสูงประมาณ 4 เมตรยาวประมาณ 100-150 เมตร โดยที่ชาวบ้านถือป้ายมีข้อความเขียนว่า “กลิ่นเหม็นออกด่วน!!!แอสฟัลล์คือมะเร็งร้ายในชุมชน ผู้รับผิดชอบช่วยด้วย” “เอาอากาศดีๆ ของเราคืนมา” “พวกคุณสบายแต่พวกเราตายผ่อนส่ง” “ประชาพิจารณ์ที่ไหนมา ถึงมาสร้างโรงงานที่นี่ บอกได้เลยกลิ่นเหม็นตึ๊บ” “ไม่เอาสารพิษ แอสฟัลล์ทำลายสมอง” และป้ายแสดงความเดือนร้อนต่อสุขภาพและหาหน่วยงานที่หันมารับผิดชอบต่อสุขภาพในชุมชนเป็นต้น โดยนายอัครัช จันทร์ทับ และชาวบ้าน เปิดเผยว่า จากปัญหาดังกล่าวชาวบ้านหลายหมู่บ้านในตำบลสะพลีได้รับความเดือดร้อนมานานนับ 10 ปีตั้งแต่ตั้งโรงงาน มีการร้องเรียนทำหนังสือเข้าพบผู้ประกอบการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ทางโรงงานรับปากว่าจะแก้ไขแต่เมื่อการแก้ปัญหาทำให้ดีขึ้นได้ไม่กี่วัน กลับมีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น ควันฝุ่นละออง ถนนเลาะเทอะเหมือนเดิน ชาวบ้านทนไม่ไหวก็มีการเคลื่อนไหวมีการทำเอกสารนำรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับความเดือนร้อนคุยกันในประชุมหมู่บ้าน และอบต. ชาวบ้านประสบปัญหาหนักคือกลิ่นเหม็นไหม้ยางมะตอยหรือน้ำมัน กลิ่นรุนแรงจนถึงวัด โรงเรียนศูนย์เด็กเล็กซึ่งตั้งอยู่ใน อบต.ด้วย จนทำให้ชาวบ้านเกิดภูมิแพ้ มีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะเด็กและคนแก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงเข้าโรงพยาบาลไปพบแพทย์ซึ่งมีเอกสารการเจ็บป่วยยืนยัน ชาวบ้านให้โอกาสให้หน่วยงานรับผิดชอบแก้ปัญหามาหลายครั้ง จนไม่ไหวแล้ว ชาวบ้าน เปิดเผยอีกว่า ก่อนจะมีการสร้างโรงงาน มีการคัดค้านขอร้องอุตสาหกรรม กันมาก่อนซึ่งอาจจะเกิดปัญหาภายหลังแต่ก็มีการสร้างขึ้นมาจริงๆ จึงมีคำถามว่า ทำไมผู้รับผิดชอบในพื้นที่จึงปล่อยปัญหามาเป็นเวลายาวนานเหมือนไม่ใส่ใจปล่อยผ่านไป ให้มีการต่ออนุญาตปีต่อปีหรืออย่างไรควรให้หยุดกิจการไปเลยเพราะสร้างปัญหาชาวบ้านไม่เอา” ต่อมาชาวบ้านทั้งหมดได้เดินทางไปทำการองค์การบริหารส่วนตำบลสะพลี ซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานผสมแอสฟัลล์ประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อขอยื่นหนังสือร้องเรียนอีกครั้งให้นายนิกร คอนกำลัง นายก อบต.สะพลี หลังเดินทางรับหนังสือฯบริเวณด้านหน้าที่ทำการอบต. โดยนายก อบต. กล่าวว่า ตนเองได้ทราบปัญหาก่อนหน้านี้ได้บอกไปทางเจ้าหน้าที่และประสานไปทางผู้ใหญ่บ้านดูแล ซึ่งแจ้งแล้วว่าให้ทางผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไขตามเวลาที่กำหนดโดยมอบหมายปลัดฯ อบต.ควบคุมกำกับดูแลพร้อมกับครั้งนี้ได้รับเรื่องไว้เพราะชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆและวันนี้จะแต่งตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อคุยถึงรายละอียด”

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่ขณะที่นายก อบต.แจ้งต่อชาวบ้านว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ชาวบ้านแสดงความไม่พอใจพร้อมทั้งบอกว่า ไม่ต้องตั้งแล้วคณะกรรมการ เพราะปัญหาเกิดขึ้นมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งเกิดและแนะนำให้นายก อบต.บังคับใช้อำนาจได้เลยในส่วนที่ทำได้ ขณะเดียวกันนายก อบต.จึงมอบหมายให้ นายวัชรินทร์ สุวพิศ ปลัด อบต.สะพลี เข้าเจรจากับชาวบ้าน ซึ่งช่วงแรกมีปากเสียงกันเล็กน้อย  โดยนายอัครัชฯ กลุ่มชาวบ้าน กล่าวโต้แย้งกับนายวัชรินทร์ ปลัดฯอบต.ว่า ปัญหาเกิดมาเป็น 10 ปีแล้วที่โรงงานสร้างความเดือดร้อน อย่าบอกว่าชาวบ้านจะเอาแต่ใจตัวเอง 10 ปีแล้วที่ชาวบ้านต้องทน ฝุ่น กลิ่น เห็นใจชาวบ้านบ้าง ถ้ามีการปรับปรุงดีๆชาวบ้านก็ไม่ต้องมาเดือนร้อนโวยวายอยู่ในขณะนี้ โรงงานจะปล่อยกลิ่นเหม็นอยู่ทุกวันได้อย่างไร เราให้เวลาแก้ไขมาเป็น 10 ปี แต่ยังเหมือนเดิม” หลังจากนั้นปลัดฯ อบต.ได้ข้อสรุปโดยแจ้งชาวบ้านว่า จะใช้อำนาจบังคับใช้แจ้งให้ผู้ประกอบการโรงงานผสมแอสฟัลล์หยุดชั่วคราวในทันทีเพื่อปรับปรุงแก้ไขเรื่องกลิ่น ฝุ่นละอองก่อนจะประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบถ้าปัญหาแก้ไขแล้วเสร็จจะอนุญาตให้เปิดได้อีกครั้ง” ขณะที่นายวัชรินทร์ สุวพิศ ปลัดอบต.สะพลี เผยต่อผู้สื่อข่าวหลังให้คำตอบกับชาวบ้านจนสร้างความพอใจแล้วว่า ตั้งแต่เริ่มที่เกิดปัญหาทางอบต.ได้เข้าไปตรวจสอบในโรงงานร่วมกับ สาธารณสุข อุตสาหกรรม พบปัญหาและสั่งระงับไปแล้วเพื่อให้มีการแก้ไข และโรงงานแจ้งว่าได้แก้ไขแล้วเจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจสอบ พบว่ามีการเปลี่ยนกรอง เปลี่ยนการใช้วัสดุ ทางโรงงานแจ้งว่าหากหยุดนานๆและเริ่มเดินเครื่องใหม่จะส่งกลิ่นในระบบจึงให้ปรับปรุงใหม่เมื่อแก้ไขแล้ว ต่อมาผู้ประกอบการมาขออนุญาต หลังประกอบกิจการ และได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ายังได้รับผลกระทบจากกลิ่น จึงเรียกผู้ประกอบการพบเพื่อพูดคุยถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านทั้งหมดแม้กระทั่งทางเข้าออกโรงงานรถทุกคันเข้าออกต้องมาสถานที่ล้างล้อ จนถึงปัญหาที่จะทำให้เกิดฝุ่นบนท้องถนนด้วย

ปลัดฯ อบต.กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะออกหนังสือสั่งระงับไม่มีกำหนดให้ผู้ประกอบการ จนจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ แต่การจะสั่งปิดโรงงานด้วยอำนาจของอบต.จะทำไม่ได้ แต่เข้าใจถึงผลกระทบของประชาชน” นายวัชรินทร์ ปลัด อบต.กล่าว ด้านนายอัตรัชฯ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน เผยว่า หลังจากนี้จะมีการสั่งระงับโรงงานผสมแอสฟัลล์ทั้ง 3 โรงและโรงงานโม่หิน โดยส่วนตัวและชาวบ้านรู้สึกพอใจ 70 เปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยหยุดการเดินเครื่องทำให้ควันพิษหายไป แต่ต้องรอดูต่อไปว่ากลิ่นจะกลับมาอีกไม่ ถ้ากลิ่นกลับมาอีกชาวบ้านจะกลับมารวมพลังกันใหม่เพื่อหยุดยั้งสารพิษของโรงงานให้ได้” ก่อนชาวบ้านจะแยกย้ายกันกลับ ในขณะที่น.ส.สภาพร ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน พาผู้สื่อข่าวไปบ้านพักเพื่อให้เห็นว่านางชูชีพ อายุ 67 ปี ซึ่งเป็นแม่นอนป่วยติดเตียงและได้รับผลกระทบจากกลิ่นฝุ่นละอองจากโรงงานจริง โดยมีพ่อของน.ส.สภาพร นั่งดูแลแม่อย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งนั่งสูดดมยาหอมไปด้วยเพื่อดับกลิ่นเหม็น และอีกครอบครัวได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน

เอกชนะ นวนละมัย /จ.ชุมพร