ชุมพร แถลงข่าวประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง สืบสานตำนาน 181 ปี

วันนี้ 10 ต.ค. 2567  นายจีรศักดิ์ แสงหอย นายอำเภอหลังสวน พร้อมด้วย นายกิจจา อุษายพันธ์ ผู้แทนภาคประชาชน ว่าที่ ร.ต.ธีรยุทธ ธีระโสพิศ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร นายปราโมทย์ อุทัยรัตน์ นายกเทศมนตรีเมืองหลังสวน นายอาสา จุลทับ พ.ต.อ.ฉลาด พลนาการ ผกก.สภ.หลังสวน และนางสาวแสงนภา หลีรัตนะ ประธานเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดชุมพร ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง ชิงโล่และถ้วยพระราชทาน มรดกวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำหลังสวน ประจำปี 2567 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 22 ตุลาคม 2567 ณ สนามแข่งขันกลางภาคใต้ แม่น้ำหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

โดยงานประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง มรดกวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำหลังสวน เป็นประเพณีที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองหลังสวน จัดขึ้นในช่วงวันออกพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 สืบทอดมาอย่างยาวนาน ถึง 181 ปี ถือเป็นต้นกำเนิดการขึ้นโขนชิงธง ที่ตัดสินด้วยการให้นายหัวเรือขึ้นโขนเรือไปคว้าหวายธงเมื่อถึงเส้นชัย หากคว้าธงมาได้ถึงจะได้รับชัยชนะ ฉะนั้นผลแพ้ชนะจึงไม่ได้ตัดสินเพียงความเร็วของฝีพายเท่านั้น แต่ยังต้องมีความแม่นยำของนายหัวเรือในการคว้าธงมาครองให้ได้อีกด้วย ทั้งนี้ประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโชนชิงธงได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี 2561 ลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านการเล่นพื้นบ้าน นอกจากนี้ ยังได้รับตรา UNSEEN THAILAND ธงหนึ่งในสยาม จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อีกด้วย

ทั้งนี้กิจกรรมงานประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง มรดกวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำหลังสวน วันที่ 16 ตุลาคม 2567 แข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ชิงถ้วยพระราชทาน กิจกรรมเปิดเมืองกินฟรี บริเวณถนนหลังสวน, วันที่ 17 ตุลาคม 2567 สมโภชเรือพระบก บริเวณถนนหลังสวน ขบวนนางรำ กว่า 420 คน, วันที่ 18 ตุลาคม 2567 เวลา 06.30 น. พิธีตักบาตรเทโว ทอดผ้าป่าสลากภัต เวลา 07.30 น. การประกวดแต่งกายผ้าไทย เวลา 10.00 น. พิธีเปิดงานทางบก อันเชิญโล่และถ้วยพระราชทาน ขบวนแห่เรือพระบก ยิ่งใหญ่สวยงาม ขบวนกลองยาวจากสังกัดต่างๆ และภาคบ่าย พิธีเปิดงานทางน้ำ ขบวนพาเหรดเรือที่เช้าแข่งขัน เรือสวยงาม เรือพระน้ำ และ กองเชียร์ริมฝั่ง โดย การแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธง จะแข่งขันในวันที่ 18 – 22 ตุลาคม 2567 ประกอบด้วยประเภท 32 ฝีพายประเภท เรือนักเรียนเยาวชน / เรือฝีพายภายในตำบล / เรืออนุรักษ์ (เรือขุด) / เรือประเภท ข ฝีพายภายในจังหวัดชุมพร และ เรือประเภท โอเพ่นทั่วไป ชิงถ้วยพระราชทานประเภทต่างๆ ดังนี้ 1. โล่พระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำหรับรางวัลชนะเลิศการประกวดเรือ ประเภทเรือสวยงาม 2. ถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือยาว ประเกท ก โอเพ่นทั่วไป (32 ฝีพาย) 3. ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สำหรับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือยาว ประเภท ข ฝีพายภายในจังหวัดชุมพร (32 ฝีพาย) 4. ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 ถ้วย สำหรับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือยาวประเภทเรืออนุรักษ์ (เรือขุด) และรางวัลชนะเลิศการประกวดเรือพระบก 5. ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จำนวน 2 ถ้วย สำหรับรางวัลขนะเลิศการแข่งขันเรือยาวประเภทเรือภายในตำบล และชนะเลิศการประกวดเรือพระน้ำ 6. ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สำหรับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือยาวประเภทนักเรียน/เยาวชน 7. ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สำหรับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และ 8. ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศน์โขติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร สำหรับชนะเลิศการประกวดกองเชียร์ริมฝั่ง

เอกชนะ นวนละมัย /จ.ชุมพร