ภูเก็ต จัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุดินโคลนถล่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา จ.ภูเก็ต โดยทางอำเภอเมืองภูเก็ต ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลตำบลกะรน และประชาชน ได้จัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุดินโคลนถล่มในพื้นที่ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 โดยจัดพิธีที่บริเวณถนนปฏักชอย 8 (หลังวัดกะตะ) หมู่ที่ 2 ตำบลกะรน พิธีดังกล่าวมีพระครูสุวรรณธรรมวินิจ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรีเขต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีผู้เข้าร่วมพิธี อาทิ นายสุวิทย์ สุริยะวงค์ ปลัดจังหวัดภูเก็ต, นายวรศิษฐ์ พุฒจีบ นายอำเภอเมืองภูเก็ต, นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต, นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต, ข้าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน เพื่อร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว

โอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และคณะได้เดินทางไปเยี่ยมและมอบกระเช้าเพื่อให้กำลังใจแก่ นายสมรส ถิรพิทยาพิทักษ์ อายุ 83 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 2 ตำบลกะรน ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุดินโคลนถล่มด้วย นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงความคืบหน้าในการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ โดยยืนยันว่าการฟื้นฟูสถานที่หลังเกิดภัยพิบัติในจังหวัดได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เยียวยาประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งมีการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย ผ่านการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต สร้างขวัญกำลังใจแก่ญาติและผู้ประสบภัยในพื้นที่ ในด้านมาตรการป้องกันภัยพิบัติ จังหวัดภูเก็ตได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรธรณี เพื่อนำความรู้ด้านวิศวกรรมมาออกแบบและป้องกันพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 8 แห่งของจังหวัด โดยอาศัยข้อมูลความลาดชันของชั้นดินและหิน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมูลนิธิมดชนะภัยได้มอบระบบเตือนภัยในพื้นที่ตำบลกะรน ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมาติดตั้งเครื่องเตือนภัยเพิ่มเติมจำนวน 10 เครื่องในพื้นที่ต่าง ๆ

นายโสภณยังเน้นย้ำว่า ภัยพิบัติสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ การเตรียมพร้อมและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยจังหวัดภูเก็ตได้แจกจ่ายกระบอกวัดปริมาณน้ำฝนให้กับทั้ง 30 หมู่บ้าน เพื่อใช้ในการเตือนภัยเมื่อมีฝนตกเกิน 150 มิลลิเมตร ซึ่งจะทำให้ชุมชนสามารถแจ้งเตือนและอพยพประชาชนได้อย่างทันท่วงที สำหรับสาเหตุของดินโคลนถล่มเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรธรณีระบุว่า เกิดจากอายุของชั้นดินและหิน รวมถึงปริมาณฝนตกสะสมที่ทำให้น้ำแทรกซึมจนเกิดการสไลด์ของดิน โดยทางจังหวัดจะวางแผนป้องกันทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อป้องกันภัยพิบัติในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม

จิระชัย เกษมพิมลพร /จ.ภูเก็ต