“แตงเทศ” จากแตงไทยผสมพันธุ์ แคนตาลูปผลที่ได้ รสชาติอร่อยถูกปากคนไทย

“แตงแคนตาลูป” เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพชนิดหนึ่ง มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย นำเข้ามาในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2478 โดยปลูกครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนมีการนำมาทดลองปลูกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ปรากฏว่า ได้ผลดีและขยายผลปลูกเชิงไร่นาโดยแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จ.เชียงใหม่ และ กรุงเทพมหานคร
ที่โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชลบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านการทำกินของราษฎรในพื้นที่ ได้นำสายพันธุ์ที่นิ่งแล้วมาปลูกในแปลงสาธิต เพื่อการศึกษาดูงานของเกษตรกร และผลิตเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายแก่เกษตรกรนำ ไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง ได้มีการปลูกในระดับไร่นา เช่นกัน
นายจรูญ ชุมศรี ครู กสน.หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมปฎิบัติการ ประจำโครงการ เผยกับคณะสื่อมวลชนในโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ ประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงาน กปร. ว่า ที่ชลบุรี จะเรียกแตงเทศ เป็นแตงลูกผสมระหว่างแตงไทยกับแคนตาลูป ที่ใช้เวลาในการพัฒนาพันธุ์ ร่วม 20 ปี จนสามารถนำมาปลูกในระดับไร่นาได้ หลังปลูก 55 วัน ให้ผลเก็บเกี่ยวได้เนื้อในจะนิ่มแบบแตงไทย ผลทรงกลมเหมือนแคนตาลูป มีความหวานอยู่ที่ประมาณ 10 บริกซ์ (Brix) ไม่หวานมาก เหมาะสําหรับคนที่รักสุขภาพ “สามารถปลูกกลางแจ้งได้ ปลูกได้ทุกฤดูดาล น้ำหนักสูงสุดอยู่ที่ ประมาณ 3 – 4 กิโลกรัมต่อลูก แต่ที่ปลูกในพื้นที่โครงการจะอยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งเหมาะกับการนำมารับประทาน สำหรับ 1 ลูกต่อ 1 คน
ปัจจุบัน มีการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกในเชิงพานิชย์ และมีเกษตรกรใกล้เคียงเดินทางมาศึกษาดูงาน พร้อมนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง อย่างต่อเนื่อง” นายจรูญ ชุมศรี กล่าว

ทางด้าน นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่อง
มาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ ให้ดําเนินงานในหลายเรื่อง นับตั้งแต่การสร้างแหล่งน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำในลำห้วยสาขาของคลองบ้านอําเภอ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ควบคู่กับการพัฒนาอาชีพ จัดให้มีการฝึกอบรมภาคการเกษตร โดยศูนย์ฝึกอาชีพการค้าการเกษตรภายในโครงการให้กับราษฎร “เมื่อก่อนราษฎรที่อยู่ในละแวกนี้ มีอาชีพทางการเกษตรแบบดั้งเดิมและปลูกพืชเชิงเดี่ยว เมื่อมีโครงการ จึงได้นำวิทยาการด้านการเพาะปลูกแบบสมัยใหม่ และพันธุ์พืชที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของตลาดมาส่งเสริม เช่น แคนตาลูป เสาวรส กระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบเขียว เป็นต้น มีการปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายแก่เกษตรกร ที่ผ่านมามีผู้คนเข้ามาศึกษาดูงานประมาณ 1,500 คนต่อปี และมีเข้ามาฝึกอบรมด้านอาชีพต่างๆ ประมาณ 1,600 คนต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องด้านสาธารณสุขในการดูแลผู้สูงอายุในโครงการ มีโรงพยาบาล ซึ่งดูแลทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้สูงอายุ ปัจจุบัน มีผู้คนเข้ามาใช้บริการจํานวนมาก โดย สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้การสนับสนุน เป็นการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่อย่างครบวงจร ตามพระราชประสงค์ของพระองค์” นางสุพร ตรีนรินทร์ กล่าว

 

นิราช ทิพย์ศรี ผู้สื่อข่าว รายงาน