นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออก หวั่น ผู้พิการ-ผู้ป่วยติดเตียงเสียสิทธิ งดตัดกระแสไฟฟ้า 3 เดือนในทุกกรณีจากการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย เตือนนำเอกสารใบรับรองแพทย์พร้อมเอกสารสำคัญ ไปยื่นใช้สิทธิได้ที่ สนง.การไฟฟ้าฯ ใกล้บ้าน

จากกรณีที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ ได้ทำการยกหมอแปลงและตัดไฟบ้านหญิงชราวัย 68 ปีใน จ.นครพนม ซึ่งป่วยติดเตียงและค้างจ่ายค่าไฟ จนทำให้เครื่องผลิตออกซิเจนช่วยหายใจหยุดทำงานและทำให้สุดเสียชีวิตในที่สุด ทำให้ครอบครัวต้องออกมาร้องเรียนต่อสื่อมวลชนเพื่อขอความเป็นธรรมและกลายเป็นกระแสดรามาในช่วงที่ผ่านมานั้น
(วันที่ 29 ตุลาคม 2567 ) ดร.ณรงค์ ไปวันเสาร์ นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออกและอุปนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่าข่าวในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่มีผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงอยู่ภายในบ้านไม่ทราบว่ามีมาตรการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวจากการไฟฟ้าฯ เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี
และยังบอกอีกว่ามาตรการดังกล่าวเกิดจากการที่ กลุ่มองค์กรคนพิการ ได้เข้าไปขอความอนุเคราะห์จากการไฟฟ้าแห่งประเทศ เพื่อขอให้งดการตัดกระแสไฟฟ้าในกลุ่มคนพิการและผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่ต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์และต้องใช้กระแสไฟฟ้าในพยุงชีพในกรณีที่ค้างค่าไฟเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน กระทั่งได้รับความอนุเคราะห์ดังกล่าว

“แต่ปัญหาคือการไม่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้หรือรับทราบ วันนี้ผมจึงออกมาบอกกับทุกคนว่า คนพิการหรือบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้ออกซิเจนหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์และต้องใช้กระแสไฟฟ้าในพยุงชีพ สามารถนำเอกสารใบรับรองแพทย์ไปยื่นเรื่องได้ที่การไฟฟ้าฯ ในเขตของท่านเพื่อของดการตัดกระแสไฟฟ้าในกรณีที่มีการค้างจ่าย 3 เดือนเพื่อเปิดโอกาสให้ได้หาเงินไปชำระ แต่หากเกิน 3 เดือนแล้วสามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้ตามระเบียบ ”
ทั้งนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายที่มีผู้ป่วยติดเตียงพักอาศัยอยู่ด้วย สามารถลงทะเบียนยื่นขอใช้สิทธิ์กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้ในทุกสาขาที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อจะได้รับความคุ้มครองสิทธิภายใต้สัญญากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายที่จะได้รับการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าในทุกกรณี
โดยมีเอกสารประกอบการยื่นขอใช้สิทธิ ดังนี้
1. หลักฐานแสดงสถานที่ใช้ไฟฟ้า เช่น สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าสำเนาทะเบียนบ้านของสถานที่ใช้ไฟฟ้า
2. ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาล มีอายุไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่ออกใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ใช้ไฟฟ้า (ถ้ามี)
4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ (ถ้ามี)
5. ในกรณีที่มอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน ต้องมีหลักฐานแสดงตัวของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ

หรือ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงาน กกพ.ประจำเขตทุกแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตในเขตที่พักอาศัยอยู่ หรือร้องเรียนปัญหาการให้บริการไฟฟ้าสำหรับประชาชน ผ่าน Line Official ไอดีไลน์ @ERCvoice ชื่อบัญชีทางการ “กกพ. รับแจ้งปัญหา”