ภูเก็ต จัดทอดผ้าป่าฉายแสงสร้าง “อาคารรังสีรักษา”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ในงาน แถลงข่าว กิจกรรม “ผ้าป่าฉายแสง” จัดโดยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต มูลนิธิน้อมเกล้า และ คณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อจัดหาทุน 290 ล้านบาท ในการสร้างอาคารรังสีรักษา โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ใช้ในการฉายแสงรักษามะเร็ง เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต และ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยมะเร็ง โดย การทอดผ้าป่า โดยจะจัดกิจกรรมดังกล่าวในวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต อาคารรังสีรักษา โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต อาคาร 6 ชั้น ประกอบด้วย แผนกรังสีรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ห้องให้ยาเคมีบำบัด และ แผนกผู้ป่วยใน พื้นที่รวมประมาณ 9,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนที่ดินบริจาค เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ริมถนนประชาอุทิศ  ต.รัษฎา  อ.เมือง  จ.ภูเก็ต อยู่ห่างจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 4 กิโลเมตร ร่วมมอบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ด้วยการบริจาค สมทบทุนสร้างอาคารรังสีรักษา ได้ทาง บัญชี : ธนาคารกรุงไทย  ชื่อบัญชี “เงินบริจาคเพื่ออาคารรังสีรักษา โรงพยาบาลชิระภูเก็ต”  เลขที่ 805 311 019 3 ทั้งนี้ เงินบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

 

นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประธานที่ปรึกษาฝ่ายฆราวาส กล่าวว่า “จังหวัดภูเก็ต ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม วัดป่าห้วยกุ่ม จังหวัดชัยภูมิ รับเป็นองค์อุปถัมป์ในการทอดผ้าป่าครั้งนี้ โดยหลวงพ่อสายทอง ท่านเป็นพระที่มีบารมีสูง ท่านสร้างอาคารให้กับหลายโรงพยาบาล รวมทั้ง โรงเรียนต่างๆ การทอดผ้าป่าเป็นช่องทางหนึ่งในการหาทุนเท่านั้น ในเมื่อโรงพยาบาลดูแลรักษาผู้ป่วยทุกคนโดยไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา ผมก็ขอเชิญชวนให้ทุกท่าน ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ร่วมทำความดี บริจาคเงินสมทบทุนสร้างอาคารรังสีรักษากันครับ” คุณประมุขพิสิฐ อัจฉริยะฉาย ประธานคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ประธานฝ่ายฆราวาส กล่าวว่า “การจัดทอดผ้าป่าจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากชาวภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง ร่วมกันบริจาค ค่าก่อสร้างอาคาร 290 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 เฟส เราต้องการอย่างน้อย 150 ล้านบาท ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เพื่อที่จะได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างเฟสแรกได้ก่อน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะสร้างเฟสแรกให้เสร็จ และจะฉายแสงแรกให้ได้ ในวันที่ 9 เดือน กันยายน 2569 คนภูเก็ต พังงา และ กระบี่ จะได้มีสถานที่รักษาผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างครบวงจร ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกลในการไปรักษาที่จังหวัดอื่น” คุณสมชัย จิรายุส ประธานมูลนิธิน้อมเกล้า กล่าวว่า จากที่มูลนิธิน้อมเกล้า โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้เปิดตัวมูลนิธิ และจุดเทียนเล่มแรก ในการรณรงค์สร้างความตระหนักของคนในภูเก็ต ถึงความสำคัญของการมีศูนย์รักษามะเร็งฝั่งอันดามัน ที่ภูเก็ต ด้วยการจัดกิจกรรม วิ่งฉายแสง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้กระแสตอบรับดีมาก มีผู้เข้าร่วมประมาณ 4,000 คน ได้เงินบริจาคตั้งต้นมอบให้โรงพยาบาล 7 ล้านบาทเศษ และได้มีผู้บริจาคเพิ่มเติม แต่ยังขาดทุนทรัพย์อีกมาก ในการสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ บนที่ดิน 5 ไร่ ริมถนนประชาอุทิศ ที่ได้รับบริจาคจาก คุณคณิต ยงสกุล

 

ดังนั้น โครงการผ้าป่าฉายแสง เป็นอีกหนึ่งโครงการของมูลนิธิน้อมเกล้า ที่จะระดมเงินทุนเพื่อสร้างอาคารรังสีรักษา (ศูนย์มะเร็งภูเก็ต) ให้สำเร็จ เพื่อผู้ป่วยมะเร็งได้รับความสะดวกในการรักษาและฟื้นจากอาการป่วยได้เร็วขึ้น นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า “ปัจจุบัน โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต รับผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ ในจังหวัดภูเก็ต พังงา และ กระบี่ ประมาณหนึ่งพันราย/ปี โดยที่ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยดังกล่าว คือ ประมาณ 500 ราย ต้องได้รับการรักษาโดยการฉายแสง แต่ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาเคมีบำบัด และ การผ่าตัดเท่านั้น หากจะรักษาด้วยการฉายแสง จะต้องส่งไปฉายแสงที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา หรือกรุงเทพมหานคร แม้ว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์การรักษาจากกองทุนต่างๆ แต่สิ่งที่ผู้ป่วยและครอบครัวจะต้องรับผิดชอบเอง คือ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และอาหาร เป็นต้น ผู้ป่วยหลายราย ที่ครอบครัวมีข้อจำกัดด้านเศรษฐานะ จึงยอมทิ้งโอกาสที่จะรักษาต่อด้วยการฉายแสง ซึ่งหมายความถึง การทิ้งโอกาสที่จะหายจากโรค และความทุกข์ทรมานจากโรค  ทางกระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาโรคมะเร็งแบบครบวงจร จึงได้สนับสนุนงบประมาณปี 2568 ให้กับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ในการจัดซื้อเครื่องฉายรังสีชนิดเครื่องเร่งอนุภาคพลังงานสูงแบบสี่มิติ 1 เครื่อง มูลค่า 120 ล้านบาท และ เครื่องจำลองและวางแผนการรักษา 1เครื่อง มูลค่า 32 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน แต่การที่จะติดตั้งเครื่องฉายรังสีฯได้ ก็จำเป็นที่จะต้องมีอาคารที่ออกแบบเฉพาะตามมาตรฐาน โดยในปัจจุบัน ในโรงพยาบาล ไม่มีพื้นที่ที่จะสร้างอาคารได้ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างอาคารรังสีรักษาบนที่ดินบริจาคนอกโรงพยาบาล และต้องสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2569 เพื่อรองรับเครื่องมือดังกล่าว ด้วยข้อจำกัดที่เรามีระยะเวลาในการก่อสร้างอาคารเฟสแรก เพียง 15 เดือน เท่านั้น จึงเป็นความท้าทายที่จะต้องเร่งหาทุนในการสร้างอาคารเฟสแรก 150 ล้านบาทให้ได้ก่อนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มิฉะนั้น โรงพยาบาลจะไม่สามารถลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2568 ได้ และอาคารจะเสร็จไม่ทันเดือนมิถุนายน 2569 หากติดตั้งเครื่อง ทดสอบระบบ และเบิกจ่ายเงินงบประมาณไม่ทันภายใน 30 กันยายน 2569 โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตก็ต้องส่งคืนงบประมาณดังกล่าว เมื่อไม่มีเครื่องฉายแสง ผู้ป่วยมะเร็งที่จะรักษาด้วยการฉายแสงก็ยังคงลำบากเช่นเดิม” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต  โทร. 076-361234 ต่อ 0

จิระชัย เกษมพิมลพร /จ.ภูเก็ต