กกท.-กองทุนพัฒนากีฬา ชี้แจง กมธ.การท่องเที่ยวและการกีฬา วุฒิสภา วางมาตรฐานสร้างแรงจูงใจให้นักกีฬาไทย สู่ความเป็นเลิศ

วันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 426 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและการกีฬา วุฒิสภา ได้มีการประชุม ครั้งที่ 6/2567 โดยมี นายพิศูจน์ รัตนวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม พิจารณานโยบาย แผนงาน และแนวทางการดำเนินงานของการกีฬาแห่งประเทศไทย และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

โดย นายก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนา 4 แนวทาง ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรสำหรับพัฒนาบุคลากรการกีฬาที่เป็นมาตรฐาน การพัฒนาเพื่อยกระดับสมรรถนะของบุคลากรการกีฬา การรับรองมาตรฐานบุคลากรการกีฬา และการยกระดับการบริหารจัดการ เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรการกีฬา

รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานเพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจแก่นักกีฬาไทย ให้มุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ โดยมอบเป็นเงินรางวัล เชิดชูเกียรติ เพื่อประกาศเกียรติคุณและมอบของรางวัลอันทรงเกียรติให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมกีฬาไทยแต่ละประเภทเพื่อนำไปสู่การจัดการแข่งขันและเข้าร่วมในระดับนานาชาติ และโครงการพัฒนาเมืองกีฬา (Sport City) ตามแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2566 – 2567 ) ซึ่งเมืองกีฬาถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ปัจจุบันมีจังหวัดที่ได้รับประกาศเป็นเมืองกีฬา (Sport City) ทั้งสิ้น 16 จังหวัด และการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคม 2568

ส่วนปัญหา และอุปสรรค สวนสาธารณะของกกท. ถูกจัดเก็บค่าเช่าที่ เสียภาษีที่ดิน รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ร้อยละ 7) และภาษีเงินได้ (ร้อยละ 15) รวมถึงการซื้อลิขสิทธิ์เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับโลก

ทั้งนี้ ภายหลังจากรับทราบข้อมูลแล้ว คณะกรรมาธิการได้มีประเด็นสอบถาม รวมถึงข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของหน่วยงานต่อไป

ทางด้าน กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยนายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬา ระบุถึงปัญหาหลัก 4 มิติ ได้แก่ การดำเนินงานยังไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กีฬาชาติ ความไม่เป็นเอกภาพขององค์กร การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและสัญญา รวมถึงการบริหารจัดการกองทุน

ส่วนเป้าหมายที่สำคัญของการบริหารงานกองทุน คือปฏิรูปโครงสร้างองค์กรสู่ความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลอย่างชาญฉลาด ยกระดับทักษะบุคลากรเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในการบริการ เสริมสร้างธรรมาภิบาล และระบบบริหารความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง ยกระดับการสนับสนุนวงการกีฬาไทยสู่ความเป็นเลิศระดับนานาชาติ  ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในวงการกีฬา

สมชาย จรรยา รายงาน