ชาวกูยเมืองจันทร์ จัดงานบุญบั้งไฟเดือน 7 พี่น้องสองฟากฝั่งสุรินทร์ -ศรีสะเกษ ร่วมงานอย่างครึกครื้น

เมื่อวันที่ 10  มิ.ย.2566  ที่บริเวณวัดบ้านตาโกน  ต.ตาโกน  อ.เมืองจันทร์  จ.ศรีสะเกษ นายธาตรี  สิริรุ่งวนิช ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธี เปิดงานประเพณีบุญบั้งไฟประจำปี 2566 โดยมี นายนรินทร์ อร่ามโชติ นายอำเภอเมืองจันทร์ ได้กล่าวรายงาน ว่าทางอำเภอเมืองจันทร์ ร่วมกับสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองจันทร์ องค์การบริหารส่วนตำบลตาโกน เทศบาลตำบลหนองใหญ่ และเทศบาลตำบลเมืองจันทร์  ได้กำหนดการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย.2566 โดยก่อนพิธีเปิดงานทางคณะหัวหน้าส่วนราชการ และพี่น้องประชาชนพร้อมต่างได้ร่วมประพอบพิธีกรรมบวงสรวง เสาหลักเมือง หรือเสาหลักหลวงพ่อจินดาซึ่งโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ใต้ต้นโพธิ์อยู่ภายในบริเวณวัดบ้านตาโกน  ก่อนที่คณะจะร่วมในพิธีเปิดงานต่อไป

 

 

 

 

 

งานประเพณีบุญบั้งไฟครั้งนี้ นายแท่ง  สุระ นายก อบต.ตาโกนกล่าวว่า การจัดงานบุญบั้งไฟของอำเภอเมืองจันทร์ ประกอบด้วยตำบลตาโกน เทศบาลตำบลหนองใหญ่ และเทศบาลตำบลเมืองจันทร์  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นใช้ภาษากูยในการสื่อสารถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ใช้ภาษาลาวในการสื่อสาร การจัดประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นไปเพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ที่สำคัญคือต้องการให้ชาวเมืองจันทร์มีความรักสามัคคีกัน ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมเด่นอย่างหนึ่งของชาวบ้านเมื่อมีกิจกรรมพี่น้องทั้งสองฝั่งสุรินทร์- ศรีสะเกษ ซึ่งมีลำห้วยทับทันกั้นเขตแดน ก็จะเดินทางมาเยี่ยมเยียนกันตลอดมา  สำหรับเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาวบ้านตาโกนและเมืองจันทร์คือการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยผ้าเก็บสีดำ ย้อมมะเกลือ การทำดอกไม้หมกที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวกูยสำหรับใช้ทัดกกหู  และทำขึ้นสำหรับบูชาพระพุทธศาสนาและ มอบให้แขกสำคัญ ชาวกูยที่นี้มีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การนับถือผีปู่ตา หลวงพ่อจินดา นายแท่งสุระกล่าว

 

 

 

ด้านนายเอกอมร มะโนรัตน์  นายกเทศมนตรีตำบลหนองใหญ่กล่าวว่าการจัดประเพณีบุญบั้งไฟของชาวกูยที่บ้านตาโกนจะจัดขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน 7 ประจำทุกปี ความเชื่อว่า หากไม่จัดประเพณีบุญบั้งไฟแล้วอาจเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นได้ และหากจัดบุญบั้งไฟจะทำให้ชาวบ้านรู้สึกมีพลังกาย พลังใจในการที่จะเตรียมทำการเกษตร ทำไร่ทำนาต่อไปได้  ซึ่งก่อนจัดกงานจะมีการจุดธูปเทียนพร้อมเครื่องสังเวย เป็นการบอกกล่าวเจ้าที่โดยเฉพาะเสาหลักเมือง หลวงพ่อจินดาที่ชาวบ้านต่างให้ความเคารพนับถือ เสาหลักเมืองนี้มีอายุมากกว่า 300 ปี ทุกคนเกิดมาก็พบเห็นตั้งอยู่ในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างพระธาตุเมืองจันทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดนี้ไปประมาณ 5 กิโลเมตร มี

 

 

 

 

จะอย่างไรก็ตาม ขบวนแห่บุญบั้งไฟในครั้งนี้มีขบวนแห่ที่แต่งตัวเป็นเอกลักษณ์ มีการอ้บั้งไฟงามโดยประยุกต์นำรถไถนาเดินตามมาตกแต่งสำหรับบรรทุกบั้งไฟ  พร้อมขบวนแห่ฟ้อนรำนางงาม และสีสัน ทั้งการจำลองควายเทียมให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าของสัตว์เลี้ยงที่คู่กับวิถีชีวิตของชาวกูยมาอย่างเนิ่นนาน  ขณะที่พี่น้องชาวสุรินทร์ส่วนหนึ่งก็แต่งกายเป็นเจ้าเงาะป่า ในมือถือพวงมาลัยที่ร้อยมาจากเห็ดตะไค้ ยืนบนขอนไม้ที่สลักเป็นรูปปลัดขิกขนาดใหญ่ มีคนคอยเข็นไปตามถนน ปากก็ตะโกนเรียกหานางรจนา ว่าพี่เงาะนำเห็ดป่าจากฝั่งสุรินทร์มามอบให้ สร้างเสียงหัวเราะเฮฮา กับผู้คนอย่างมาก ส่วนการจุดบั้งไฟจะมีขึ้นในวันที่ 11-12 มิ.ย.2566 ณ บริเวณป่าปู่ตาด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน.

 

 

 

 

 

ภาพ/ข่าว  พีรชัย  วงษ์เลิศ  ผู้สื่อข่าว จ.สุรินทร์