สร้างจุดสมดุลระหว่างการควบคุมและการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า

อังกฤษเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ทั่วโลกที่มีมาตรการควบคุมการใช้และการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศต้นแบบที่สนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่ หรือเพื่อลดหรือเลิกการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ นโยบายนี้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ทำให้อัตราผู้สูบบุหรี่ลดลงอย่างมาก จาก 17% เหลือเพียง 11% ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม การใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นได้นำมาสู่ความกังวลในเรื่องการติดบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณามาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น
รายงานของ The Times ประเทศอังกฤษเปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังพิจารณานโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบทางลบตามมาโดยไม่ตั้งใจ เช่น เกิดการซื้อขายกันในตลาดมืดหรือตลาดใต้ดินเพิ่มขึ้น Caitlin Notley จากมหาวิทยาลัย East Anglia เตือนว่ามาตรการที่เข้มงวดเกินไปอาจทำให้ผู้สูบบุหรี่สับสน และไม่สามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับตนเองได้ ขณะที่ Christopher Snowdon จากสถาบัน Institute for Economic Affairs ชี้ว่าการเพิ่มภาษีและการจำกัดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจนำไปสู่การค้าใต้ดินที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียก็เป็นได้

ในอีกด้านหนึ่ง การควบคุมในระดับที่สมดุลระหว่างการส่งเสริมการเลิกบุหรี่และการป้องกันเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้ายังถือเป็นแนวทางที่เหมาะสม อาทิ สหรัฐอเมริกาที่มีแนวทางการควบคุมแบบสมดุล โดยข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจเยาวชนแห่งชาติ (National Youth Tobacco Survey) ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ปี 2024 พบว่าอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบและนิโคตินในกลุ่มนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการสูบบุหรี่แบบเดิมลดลงอย่างมากจนแทบไม่มีแล้ว ขณะที่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าลดลงกว่า 70% จากจุดสูงสุดในปี 2019 แสดงให้เห็นว่ามาตรการควบคุมที่รอบคอบสามารถลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนได้
ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งใช้นโยบายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด ส่งผลให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายทั้งที่สามารถควบคุมได้ด้วย พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต ทำให้มาตรการควบคุมที่ใช้อยู่กับบุหรี่แบบดั้งเดิมไม่สามารถใช้ได้กับบุหรี่ไฟฟ้าเลย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดภาพและข้อความเตือน การห้ามโฆษณา หรือการเก็บภาษี ซึ่งเป็นมาตรการที่ธนาคารโลก หรือ World Bank ระบุว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ตามกรอบยุทธศาสตร์ MPOWER นอกจากนี้ การห้ามนี้ยังทำให้เกิดตลาดมืดในประเทศ เกิดปัญหาการลักลอบซื้อขายที่ทำให้รายได้รัฐสูญหายจำนวนมากจากจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้นเกือบถึง 1 ล้านคนในปัจจุบัน

ในหลายประเทศ การเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเริ่มถูกนำมาใช้เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ยกตัวอย่างประเทศจีน ซึ่งจากรายงานล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2022 เผยว่ารัฐบาลจีนกำลังพิจารณาการเก็บภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า โดยมีการกำหนดอัตราภาษีการบริโภคที่ 36% สำหรับการผลิตและนำเข้า และอัตราขายส่งที่ 11% เพื่อเพิ่มรายได้รัฐในขณะที่ยังคงควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ เช่นเดียวกับสาธารณรัฐมอลตา ประเทศที่เล็กที่สุดในสหภาพยุโรป หนังสือพิมพ์มอลตาทูเดีย์รายงานว่ารัฐบาลจะเริ่มเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลให้ราคาของน้ำยานิโคตินราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อย 1.30 ยูโรหรือ 26% และจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 ยูโรจากภาษีนี้ในปีแรก ขณะที่มาเลเซียเองก็กำลังดำเนินการในลักษณะเดียวกัน โดยมีแผนดึงภาษีบุหรี่ไฟฟ้ามาใช้สนับสนุนการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน
การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างสมดุลและรอบคอบ แทนที่จะห้ามโดยสิ้นเชิง จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการปกป้องเยาวชน ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการสูบบุหรี่แบบดั้งเดิม ในขณะเดียวกันยังช่วยควบคุมการใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบที่ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบมากขึ้น