คนนับพัน แห่ชมงานสืบสานตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว รับงานแสดงช้างวันแรก

วันที่ 16พ.ย.67  เวลา 19.30 น.นายชำนาญ ชื่นตา ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน สืบสานตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ โดยมี นายกิตติ สัตย์ซื่อ ปลัด จ.สุรินทร์ นายพิศาล เค้ากล้า นายอำเภอศีขรภูมิ นายทวีทรัพย์ โล้เจริญรัตน์นายกเทศมนตรีตำบลศีขรภูมิ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ

การจัดงานแสดงแสงสีเสียงสืบสานตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ ประจำปี  2567 ได้จัดควบคู่กับงานแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ เป็นประจำทุกปี ซึ่งงานแสดงแสงสีเสียงสืบสานตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ มีมาตั้งแต่ปี 2542 หน่วยงานที่รับแสดงได้สลับสับเปลี่ยนกันคือโรงเรียนศีขรภูมิพิสัยและวิทยาลัยการอาชีพศีขรภูมิ ในปีนี้ผู้ที่ได้รับหน้าที่จัดการแสดงคือวิทยาลัยการอาชีพศีขรภูมิในชุดการแสดงที่มีชื่อว่า”อัป-สรรัตติกาลเทวสถานศีขรภูมิ”โดยใช้นักแสดงกว่า 200 ชีวิต ใช้เวลาแสดง 50 นาที

 

 

 

 

ในปีนี้กำหนดจัดการแสดงจำนวน2  รอบคือในวันเสาร์ที่ 16 ถึงวันอาทิตย์ที่ 17 พ.ย.67 เริ่มการแสดงเวลา 19.30น.เป็นต้นไป และในช่วงวันเสาร์ที่ 16 พ.ย.จะมีกิจกรรมการประกวดตำข้าวโบราณและการประกวดมัดหมี่ผ้าไหมและวันอาทิตย์ที่ 17 พ.ย.67 มีการประกวดอาหารพื้นเมืองและส้มตำลีลา

ภายในบริเวณงานก่อนเวลาทำการแสดง มีอาหารอร่อยจากร้านค้าที่มาออกงานให้ได้ชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของดีศีขรภูมิ เช่นกาละแมศีขรภูมิ ที่อร่อยขึ้นชื่อระดับประเทศ ผ้าไหมศีขรภูมิ ที่มีความสวยงาม บริเวณหน้าองค์ปราสาท มีการจำลองวัฒนธรรมและวิถีชุมชนพื้นเมืองเขมร ลาว กูย มีการสาธิตทำอาหารประจำถิ่น การแสดงรำพิธี”แกลมอ”รำโฎนตา รำแหย่ไข่มดแดง เป็นต้น

 

 

ส่วนการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดง ที่นั่งวีไอพี บริเวณด้านหน้าที่นั่งละ 200 บาท ซึ่่งปีนี้ได้มีพี่น้องประชาชนที่ได้เดินทางมาเที่ยวชมกันและได้แวะชิมช็อกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งประชาชนที่ได้เดินทางมาเที่ยวชมงานตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิปีนี้ ต่างได้นำพัดมาด้วย เนื่องจากว่าอากาศแสนที่จะร้อนอบเออ้าว อย่างมาก ก่อนที่มรสุมจะเข้าตามที่กรมอุตุคาดการณ์

 

สำหรับ ปราสาทศีขรภูมิเป็นลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ ปราสาทก่ออิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันโดยตัวฐานก่อด้วยศิลาแลงกว้าง 25 เมตรยาว 26 เมตร สูง 1.5 เมตร โดยมีคูน้ำกว้าง 125 เมตรล้อมรอบสามด้าน โดยเว้นด้านตะวันออกอันเป็นทางเข้าไว้

 

 

 

 

ปรางค์ประธานสูงประมาณ 32 เมตร ทับหลังเป็นภาพพระศิวะนาฎราชสิบกร ทรงฟ้อนรำเหนือเกียรติมุข ภายใต้วงโค้งลายท่อนมาลัย ซึ่งสลักเป็นภาพพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุและพระอุมา โดยทับหลังนี้เป็นทับหลังที่มีความสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของเมืองไทย บริเวณเสากรอบประตูสลักเป็นรูปนางอัปสรา ถือดอกบัวและทวารยืนกุมกระบอง ซึ่งนางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมินี้ มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่พบที่ปราสาทศิลปะเขมรโบราณแห่งใดอีกเลย ในประเทศไทย  นอกจากลวดลายสลักเสาของทับหลังและเสาที่สวยงามแล้วเครื่องประดับจำพวกกลีบขนุน ก็สวยงามไม่แพ้กัน และสิ่งหนึ่ง คือ อิฐแต่ละก้อนนั้น นอกจากมีขนาดไม่เท่ากัน ยังประสานกันเป็นเนื้อเดียวอีกด้วย นี่คือความอัจฉริยะของช่างสมัยโบราณ.

 

 

 

 

 

นพรัตน์  กิ่งแก้ว / ผู้สื่อข่าว จ.สุรินทร์  รายงาน