ภูเก็ต เปิดตัวยิ่งใหญ่ ประติมากรรม “ไอ้จุด” Lovely Lucky I – Jud No. 13 ศิลปะร่วมสมัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17  พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการศิลปะ “ไอ้จุด” Lovely Lucky I – Jud No. 13 โดยมีนางสาวปพัชร์ศร มีปา ประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้งบริษัทภูเก็ตไนน์ เรียวเอททเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2553 สาขาศิลปะการออกแบบ นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต คณะกรรมการสมาคมศิลปินภูเก็ต เครือข่ายศิลปินและสื่อมวลชน และพบกับ “วีเจจ๋า” ศิลปินสาวสวยที่มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย ณ มิกซ์มอลล์ หาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตได้รับการถูกคัดเลือก ให้เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ หรือ Thailand Biennale, Phuket 2025 ที่จะจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2568 ถึงเดือนเมษายน 2569 ซึ่งเป็นมหกรรมศิลปะร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่คาดว่าจะมีคนที่รักงานศิลปะจากทั่วโลก จะเดินทางมาเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยกันส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้านการท่องเที่ยวด้วยมิติทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทย หรือ Soft Power ของไทยให้สามารถแข่งขัน ได้ในระดับโลก และสร้างภาพลักษณ์เกียรติภูมิ และยกระดับศิลปวัฒนธรรมของไทยสู่ระดับนานาชาติได้ ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุน จากศูนย์การค้ามิกซ์มอลล์ หาดราไวย์ บริษัทภูเก็ตไนน์ เรียวเอททเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในการสนับสนุนพื้นที่ ซึ่งนอกจากนี้แล้ว ยังจะมีการจัดสร้างเทวาลัย พระพิฆเนศ ศรีมัน คณปติ ต้นแบบจากวัดดั๊กดูเศษ เมืองปูเน่ ประเทศอินเดีย มาประดิษฐาน ณ เทวาลัย หาดราไวย์ ที่นี่ด้วย ซึ่งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของภูเก็ตด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวอีกว่า การที่งานศิลปะร่วมสมัย “ไอ้จุด” Lovely Lucky I – Jud No. 13 ได้เดินทางมาจัดแสดง ณ มิกซ์มอลล์ หาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานศิลปะร่วมสมัย ที่สร้างการรับรู้ในคุณค่าของงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ เป็นจุดเริ่มของการกระตุ้น ความอยากรู้ อยากเห็นของคนที่ชื่นชอบงานศิลปะ ซึ่งเป็นแนวคิดของงานศิลปะชิ้นนี้ โดยนายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินรางวัลศิลปาธร ถือว่าเป็นศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่มีผลงานศิลปะจัดแสดงไปทั่วโลก ที่มีชื่อเสียง เคยแสดงผลงานทั้งในและต่างประเทศ มากมาย อย่างเช่น ในงานเวนิส เบียนาเล่ ที่อิตาลี เทศกาลงานศิลปะที่ใหญ่ที่ของโลกในนามตัวแทนประเทศไทย หลังจากที่งานชิ้นนี้ได้เดินทางไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ทำให้คนรู้จักไอ้จุด รู้จักงานศิลปะและประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป รวมถึงนักท่องเที่ยว จะได้เรียนรู้ในคุณค่าของงานศิลปะร่วมสมัยของไทย และยังเป็นการประชาสัมพันธ์การจัดงาน Thailand Biennale, Phuket 2025 ไปอีกทางหนึ่งด้วย “จังหวัดภูเก็ตจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เตรียมขับเคลื่อนเมืองภูเก็ตไปสู่เมืองศิลปะแห่งการสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดให้กับการท่องเที่ยว ซึ่งภูเก็ตเป็นจุดมุ่งหมาย ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่แล้ว แต่มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ หรือ Thailand Biennale จะเป็นการเติมเต็มความเป็น City of Art ได้มากยิ่งขึ้นและมุ่งหน้าสู่ความเป็น World Art Destination ต่อไป” นายโสภณ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับประติมากรรม “ไอ้จุด” Lovely Lucky I – Jud เริ่มแรกนั้นทำจากเซรามิกขนาดเท่าลูกสุนัขที่เป็นส่วนหนึ่งของงานชุด Coming closer ที่ประกอบไปด้วยปราสาทแบบเยอรมัน คนแคระ โถไทย เด็กไทย และ “ไอ้จุด” ที่เป็นลูกหมาพันธุ์ไทย ที่นับเป็นส่วนหนึ่งของ Street culture ของไทย ซึ่งงานนี้ได้ถูกนำไปจัดแสดงที่กรุงเทพ และกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2550 และถูกนำกลับมาแสดงอีกครั้งในนิทรรศการ รอยยิ้มสยาม งานเปิดหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2551 ที่ ”ไอ้จุด” ถูกเพิ่มบริบทเพิ่มขึ้น หลังจากการเริ่มมีคำว่าศิลปะร่วมสมัยเข้ามาอยู่ในสังคมไทยมากขึ้น และ ขยายเข้าถึงคนในวงกว้างกว่าเดิม ไอ้จุดกลายเป็นตัวแทนของความรู้สึกเหล่านี้ ความอยากรู้อยากเห็น ในงาน รอยยิ้มสยาม ประติมากรรมดินเผา “ไอ้จุด” จึงได้กระจายไปตามงานศิลปะชิ้นต่างๆ ทั่วหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้คนรู้จักประติมากรรมชิ้นนี้มากขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 SCG Chemicals ได้พัฒนาวัสดุตัวใหม่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเรซินหรือไฟเบอร์กลาส เรียกว่า อะคิลิกไซรับ ( Acrylic syrup ) ได้นำเอา “ไอ้จุด” มาสร้างเป็นประติมากรรม สูง 3 เมตร และ “ไอ้จุด” ได้เริ่มออกเดินทางครั้งแรกที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการเข้ามามากขึ้นของศิลปะร่วมสมัยในสังคมไทย และในปีเดียวกันประติมากรรม “ไอ้จุด” ได้เดินทางกลับบ้านที่จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นแหล่งผลิตประติมากรรมไอ้จุด เมื่อโครงการที่จะสร้างประติมากรรมให้จังหวัดราชบุรีได้เริ่มขึ้น เพื่อสื่อและเป็นสัญลักษณ์ว่า ไม่ใช่เฉพาะที่เมืองหลวง แต่ทุกๆ ที่ในประเทศไทย แม้แต่เมืองเล็กๆ อย่างราชบุรี ก็จำเป็นต้องมีคำว่า ศิลปะเข้ามาอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน นอกจากนี้ ประติมากรรมได้ถูกเลือกให้สร้างและนำไปติดตั้งที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เนื่องจากเป็นประติมากรรม ที่ดูง่าย ไม่ซับช้อน ทำให้คนที่แม้ไม่ได้มีพื้นฐานและความสนใจทางด้านศิลปะมาก่อน สนใจและเข้าถึงได้ง่าย อันจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงโดยใช้งานศิลปะร่วมสมัย เพื่อเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้ชม ให้เข้าไปเรียนรู้กับงานที่เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำของชุมชนที่สะสมอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจัดแสดงในสถานที่ต่างๆ เช่น หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

จิระชัย เกษมพิมลพร /จ.ภูเก็ต