วันที่ 19 พ.ย. 2567 ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช พร้อมนายกิตติศักดิ์ บุญชัย และราษฎร์ชาวเกาะเต่า กว่า 20 คน ได้มายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของราษฎรชาวเกาะเต่า กรณีกรมธนารักษ์ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุมิชอบด้วยกฎหมาย และส่งประเด็นข้อกฎหมายที่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญต่อศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องมาจาก กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังได้ขึ้นทะเบียนเกาะเต่าเป็นที่ราชพัสดุทั้งเกาะจำนวน 15,000ไร่ หรือประมาณ 21ตารางกิโลเมตร โดยมิชอบ ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเนื่องจาก ก่อนปี 2480 ราษฎรได้เข้ามาจับจองครอบครองทำประโยชน์และอยู่อาศัยบริเวณเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยทำสวนมะพร้าว ที่บริเวณแม่หาด และบริเวณหาดทรายรี บริเวณโฉลกบ้านเก่า ต่อมา ประมาณปี 2485กรมราชทัณฑ์ได้มีการก่อสร้างเรือนจำซึ่งเป็นเรือนจำปิด มีรั้วรอบขอบชิด ประมาณ ๒๕ ไร่ ในปี 2486ได้มีการย้ายนักโทษการเมือง กบฏบวรเดช จำนวน 54 คน จากเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล มาอยู่ที่เกาะเต่า จนถึงปี พ.ศ. 2487ประมาณปีเศษ และได้มีการอภัยโทษ และปล่อยตัวไป เรือนจำดังกล่าวก็ถูกทิ้งร้าง ต่อมา ในปี 2490กระทรวงการคลังได้ประมูลขายสิ่งปลูกสร้างเรือนจำ ในส่วนของราษฎรก็ยังคงครอบครองทำประโยชน์บนพื้นที่เกาะเต่า มีการทำสวน ทำไร่ ทำสวนมะพร้าว ทั่วบริเวณเกาะ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2497ประมวลกฎหมายที่ดินเริ่มใช้บังคับ และให้ราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไปขึ้นทะเบียนสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง(ส.ค.1)ภายใน 189 วัน แต่ไม่สามารถแจ้งสิทธิการครอบครองได้ เพราะนายครรชิต พัฒนศรี สรรพากรอำเภอเกาะสมุย ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลังได้แจ้งการครอบครองที่ดินบริเวณเกาะเต่าตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เมื่อวันที่ 4พฤษภาคม 2498ทั้งเกาะ เนื้อที่ 15,000ไร่ เกินกว่า 25ไร่ ที่กรมราชทัณฑ์ครอบครองอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงทำให้ราษฎรไม่สามารถแจ้งสิทธิครอบครองที่ดิน(ส.ค.1)ได้จนถึงปัจจุบัน เพราะกรมธนารักษ์ได้ขึ้นทะเบียนที่ดินบริเวณเกาะเต่าทั้งแปลงเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนโดยความผิดพลาดคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ราษฎรยังคงครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่วต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เป็นเหตุให้ราษฎรเกาะเต่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการขึ้นทะเบียนของกรมธนารักษ์ การขึ้นทะเบียนดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างกรมธนารักษ์กับราษฎรชาวเกาะเต่ามายาวนานจนถึงปัจจุบันยังหาข้อยุติไม่ได้ จากข้อพิพาทดังกล่าว ราษฎรชาวเกาะเต่าจึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐหลายครั้ง ดังนี้ 1.ในปี 2529ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ขอออกเอกสารสิทธิหรือ น.ส.3 ของที่ดินเกาะเต่า และเกาะห่างเต่า 2.ในปี 2546ได้ร้องเรียนผ่านสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับราษฎร โดยมีข้อสรุปว่า ที่ราชพัสดุแปลงเกาะเต่านั้นมีเพียงพื้นที่ที่เป็นเรือนจำโดยสภาพเท่านั้น ซึ่งขณะนั้นประมาณการว่ามีเนื้อที่ประมาณ 25ไร่เศษ นอกเหนือจากนั้นกรมธนารักษ์ควรคืนให้แก่ราษฎร 3.ในปี 2561ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อแม่ทัพภาค 4ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4(กอ.รมน.ภาค 4)และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มีคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่4755/2561ลงวันที่ 31กรกฎาคม 2561เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินแปลงเกาะเต่าเพื่อหาข้อเท็จจริงที่ดินราชพัสดุแปลงเกาะเต่า โดยมีพลตรีเกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการช่วยรบที่ 4 เป็นประธานคณะทำงาน 4.ในปี 2562ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องราษฎรตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะ พะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร้องเรียนข้อความเป็นธรรมในการพิสูจน์สิทธิที่ดินและขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมและใบอนุญาตเกี่ยวกับอาคาร 5.ในปี 2565ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานเทศบาลตำบลเกาะเต่าได้ติดตามเรื่องดังกล่าว โดยออกหนังสือสำนักงานเทศบาลตำบลเกาะเต่า ที่ สฎ 7560/302ลงวันที่ 13สิงหาคม 2565ถึงผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4/หัวหน้าคณะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 เรื่อง ขอความเป็นธรรมอนุเคราะห์ตรวจสอบกรณีธนารักษ์พื้นที่ออกเอกสารสิทธิ์ครอบทั้งเกาะกระทบสิทธิ์ที่ดินของราษฎรตำบลเกาะเต่า จากการที่ราษฎรยื่นหนังสือร้องเรียนดังกล่าวได้มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและลงพื้นที่เกาะเต่าเพื่อสอบข้อเท็จจริง ได้ความตรงกันว่า 1.เกาะเต่าไม่เป็นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมาย 2.การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงเกาะเต่าไม่ถูกต้อง 3.การแจ้งสิทธิการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1) ของนายครรชิต พัฒนศรี สรรพากรอำเภอเกาะสมุย ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2498 ที่ระบุว่ามีการใช้ประโยชน์จดทะเลทั้ง 4 ด้าน หรือทั้งเกาะ จำนวน 15.000ไร่ เป็นการแจ้งสิทธิการครอบครองที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกรมราชทัณฑ์ได้ใช้ประโยชน์เพียง 25ไร่ ส่วนที่แจ้งการครอบครองเกิน 14,975ไร่ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 4.การแจ้งการครอบครองที่ดินแปลงเกาะเต่า (ส.ค.1) ของกระทรวงการคลัง ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ต่อกระทรวงการคลังและถือเป็นการกระทำที่ปิดกั้นโอกาสการใช้สิทธิ์ของราษฎร 5.กรมราชทัณฑ์ ไม่ได้ใช้ประโยชน์เกาะเต่าทั้งเกาะเป็นที่กักขังนักโทษ ใช้เฉพาะพื้นที่เรือนจำบริเวณแม่หาด ประมาณ 25ไร่เศษ 6.ราษฎรมีการถือครองและใช้ทำประโยชน์ที่ดินเกาะเต่ามาโดยตลอด โดยพิจารณาจากผลการตรวจพิสูจน์อายุพืชผลอาสิน เช่น ต้นมะพร้าวในพื้นที่เกาะเต่า ซึ่งมีอายุการปลูกตั้งแต่ปี2577ถึง 2495 ก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะปลูกสร้างเรือนจำในปี 2485-2487 และสอบปากคำราษฏรผู้สูงอายุและทายาท จำนวน 47 ราย