วันที่ 25 พ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางหนูเปรียบ อภัยพงค์ (ป้าบล) อายุ 60 ปีพร้อมด้วยนายธวัชชัย อภัยพงค์ อายุ 27 ปีซึ่งเป็นลูกชาย ได้ช่วยกันทำตับจากจากต้นสาคู โดยเอาใบมาเย็บเป็นตับจากขาย สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ซึ่งลูกชายจะเป็นคนออกไปตัดทางสาคู ที่ปลูกไว้หลังบ้านเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ พร้อมตัดต้นคล้า เพื่อนำมาลอกเปลือกออก ใช้เย็บตับจาก ส่วนต้นหมาก ใช้ทำไม้ตับจาก ซึ่งปลูกเองทั้งหมดมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ซึ่งป้าบล ได้เรียนรู้การเย็บตับจากใบสาคูขายมาตั้งแต่อายุ 35 ปี เพื่อต้องการสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไป ซึ่งในสมัยก่อนชาวบ้านจะใช้ใบไม้มุงหลังคาหรือทำเป็นที่อยู่อาศัย ต่อมาจึงมีการเย็บตับจากที่ทำจากต้นจากหรือต้นสาคูก็ได้ ใช้แทนการใช้ใบไม้ แต่ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่หันไปใช้กระเบื้องหรือสังกะสีมุงหลังคาแทน แต่การเย็บใบสาคูก็ยังไม่หายไป เพราะยังมีประชาชนส่วนหนึ่งซื้อไปทำกระท่อม ขนำ ร้านค้า ร้านอาหาร แพริมน้ำ คอกสัตว์และอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตับจากใบสาคู มีความคงทน แข็งแรง ใช้งานได้นานนับ 10 ปี โดยผู้ขายรับประกันตับจากใบสาคูของตนตับละ 5 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ซึ่งแต่ละวันป้าบลจะทำตับจากได้ประมาณ 20 ตับ ขายตับละ 20 บาท ซึ่งแต่ละอาทิตย์จะขายตับจากได้ประมาณ 70-100 ตับ สร้างรายได้เกือบ 2,000 บาทหรือเดือนละกว่า 8,000 บาท แต่หากซื้อในปริมาณมาก ๆ ก็จะลดราคาลงได้อีก และขายได้ตลอดทั้งปี แล้วแต่ความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา